เตือน! กลลวง 'ปลอมตัว-สวมรอย' เรื่องง่ายบนโลกออนไลน์... จริงหรือ?

EyWwB5WU57MYnKOuFBrBXmYECnD2nUrGwGpe4kZk6HU9IrV08SkMol

จากความง่ายและรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตทำพิษ! วายร้ายอาศัยช่องโหว่ สร้างความวุ่นวายและความเสียหายจากการปลอมแปลง แอบอ้าง หรือแฮ็กข้อมูล มาใช้สร้างความเสียหายและเข้าใจผิด…

 

เมื่อก่อน... ใครๆ ต่างคิดว่าถ้าเราไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่ดารานักร้อง เรื่องการถูกแฮ็กหรือนำภาพไปใช้ ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหาประโยชน์ แต่ถ้าคุณอยู่ในยุคดิจิตอล ที่มีการใช้อินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อไว-ไฟ และเล่นโซเชียลมีเดีย ซึ่งแม้ว่าคุณจะไม่ใช่คนดัง แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้คุณมีสิทธิ์ตกเป็นเป้า และอยู่ในความเสี่ยงแล้วไปครึ่งหนึ่ง​!

จากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งการปลอมแปลงเฟซบุ๊กนายตำรวจยศสูงระดับนายพล หรือ การปลอมโซเชียลฯ เป็นไฮโซชื่อดังที่เพิ่งมีข่าวแยกทางกับอดีตหวานใจ รวมถึงอีกหลายๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้นกับบรรดาบุคคลสาธารณะ ดารา เซเลบริตี้ ไม่นับรวมถึงประชาชนคนธรรมดา ซึ่งบ้างอาจจะมีหน้าตาดี รูปร่างดี หรือโชคร้ายอย่างที่สุดก็เป็นคนทั่วไป แต่ถูกผู้ไม่หวังดีรวมถึงอาชญากรทั้งหลายแฮ็กเอาข้อมูล หรือใช้ชื่อเสียงหาผลประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบธรรม

บทลงโทษของผู้ที่ไม่หวังดีและประพฤติร้ายต่อผู้อื่น จะมีบทลงโทษอย่างไร วิธีแก้ไขสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ หรือผู้ที่ยังไม่ตกเป็นเหยื่อแต่มีความเสี่ยงในการถูกขโมยข้อมูลและชื่อเสียง รวมถึง ผู้ใช้โซเชียลมีเดียแบบไม่เคยระมัดระวัง คาดคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้มาก่อน จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เรามีทุกคำอธิบาย...

 

NjpUs24nCQKx5e1DGT7uD5weeVhPmHR5jEbwqLqOEYW

สังคมโซเซชียลฯ มีการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว แม้ไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือเท็จ

 

"เพราะความง่ายของโลกออนไลน์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้บ่อยๆ แค่สร้างอีเมล์ใหม่ซักชื่อ ก็สมัครเข้าใช้งานโซเชียลมีเดียได้ทันทีโดยไม่ต้องยืนยันตัวตนอะไรมาก" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ อดีตผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยี กล่าว และบอกอีกว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ไทยนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ เหมาะสมอยู่แล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือการบังคับใช้ เราควรตั้งคำถามว่าการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพนั้นต้องทำอย่างไร เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วนก็ต่อเมื่อมีการบังคับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์

อดีตมือปราบเทคโนโลยี แสดงทัศนคติว่า การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวบนโลกออนไลน์นั้น มีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่ 2 ส่วน คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะเป็นผู้สืบสวน สอบสวน และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่จะเป็นผู้ปิดกั้นการแพร่หลายของเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งอยากขอร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าให้เลิกรอคอยเจ้าทุกข์ เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกของอินเทอร์เน็ตนั้นเกิดและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้มีเจ้าทุกข์มาแจ้งความหรือรอให้มีผู้ร้องเรียน เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ ก็อยากให้มีการเติมเต็มเรื่องความมั่นคงให้กับเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญวิชาการ และเติมเนื้อหาเทคโนโลยีให้กับตำรวจซึ่งมีความถนัดในการสืบสวนสอบสวน เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

 

NjpUs24nCQKx5e1DGT7uD5weeVhPmHV8sD0DctkSPLY

เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างหนึ่ง ที่ใครหลายใครละเลยเรื่องความปลอดภัย

 

"ในฐานะที่เคยใกล้ชิดทั้งด้านตำรวจและงานวิชาการ ผมว่าประเทศไทยมีบุคลากรคุณภาพอยู่ในทุกหน่วยงาน เรามีตำรวจเก่ง มีนักวิชาการที่ฉลาด หากพูดถึงงานป้องกันและปราบปรามความผิดทางเทคโนโลยี ก็ควรนำทั้ง 2 ส่วนมาบูรณาการกัน ใช้ทั้งความถนัดในการสืบสวนและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เพื่อประสิทธิภาพและผลสำเร็จสูงสุด ซึ่งผมมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของไทยนั้นมีศักยภาพมากพอ" พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวปิดท้าย

ด้านทนายความชื่อดัง วันชัย สอนศิริ อธิบายว่า ความผิดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์นั้น ถือเป็นความผิดทางอาญา โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ในมาตรา 14 ที่ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

"โทษดังกล่าวไม่ใช่โทษเบา จำคุก 5 ปี ปรับเงินเป็นหลักแสนบาท นอกจากนี้ ผู้ที่กระทำการดังกล่าวอาจถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่น เช่น คดีหมิ่นประมาท เนื่องจากการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังจากผู้อื่น ก็อาจถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทได้ และนอกจากผู้กระทำผิดแล้วในลักษณะดังกล่าวแล้ว ผู้ที่ส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จทั้งหลายก็มีความผิดด้วยเช่นกัน หรือแม้แต่การปลอมแปลงข้อมูลหรือนำข้อมูลของผู้อื่นไปใช้ หากทำให้เจ้าของตัวจริงเกิดความเดือดร้อน แม้จะไม่เกิดความเสียหายก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้"

 

NjpUs24nCQKx5e1DGT7uD5weeVhPmHZU6K24P0wRvZ1

เมื่อเกิดการส่งต่อของข้อมูลบนโลกออนไลน์ ก็เป็นเรื่องยากแก่การควบคุม

ทนายชื่อดัง ยังแนะนำด้วยว่า สำหรับผู้ที่ถูกนำข้อความ ภาพ หรือรายละเอียดส่วนตัว ไปใช้ในทางมิชอบ โดนนำไปปลอมแปลง แอบอ้าง และทำให้เสื่อมเสีย ล้วนสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้ดำเนินคดีได้ทันที ซึ่งควรทำโดยไม่ต้องรีรอ!

นอกจากคำแนะนำสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ... เรายังมีวิธีเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานโซเชียลมีเดียแก่ทาสสังคมออนไลน์! ทุกคนอีกด้วย

เปลี่ยนพาสเวิร์ดทุก 2 เดือน!
หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง เกี่ยวกับคำแนะนำที่บอกให้เราหมั่นเปลี่ยนพาสเวิร์ดเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาโซเชียลมีเดีย แล้วที่บอกว่า "ควรเปลี่ยน" ทุก 2 เดือนนี่จริงหรือ? ขอบอกและย้ำตรงนี้เลยว่า... เป็นความจริง! เพราะวิธีนี้ถือเป็นพื้นฐานในการป้องกันการถูกแฮกข้อมูล ซึ่งได้รับการยืนยันจากทีมงานความปลอดภัยของเฟซบุ๊กมาแล้ว

ใช้พาสเวิร์ดแบบไหนปลอดภััยสุด?
เราควรใช้พาสเวิร์ดที่มีความปลอดภัยสูง คือ ต้องมีทั้งตัวเลข ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กผสมกัน เลิกคิดถึงคำง่ายๆ อย่าง Password, Admin, qwerty หรือ 123456 อะไรทำนองนี้ไปได้เลย

เช็คซักนิด... คุณกำลังตกเป็นเหยื่อหรือไม่
ตัวอย่างของสถานการณ์เตือนภัย เป็นสัญญาณให้คุณสงสัยว่า คุณอาจจะกำลังตกหลุมพรางของบรรดาอาชญากร ได้แก่ ลิงค์หลอก เมื่อคุณเลื่อนเมาส์ไปบนลิงค์ ควรตรวจสอบที่อยู่ของลิงค์ที่ขึ้นบริเวณด้านล่างของเว็บบราวเซอร์ให้แน่ใจว่า ตรงกับลิงค์ที่คุณต้องการจะคลิก , ข้อความที่อ้างว่าได้แนบไฟล์พาสเวิร์ดของคุณมา , ข้อความที่แจ้งให้คุณกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น พาสเวิร์ดของบัญชีผู้ใช้งาน หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หมายเลขบัตรเครดิต/รหัส PIN , ข้อความที่อ้างว่าบัญชีผู้ใช้งานของคุณจะถูกลบหรือระงับ หากคุณไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในทันที เป็นต้น

 

NjpUs24nCQKx5e1DGT7uD5weeVhPmHX9rtpjhlc7HMk

การเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ในยุคออนไลน์

สแกนผู้เข้าใช้ด้วยรหัสพิเศษทุกครั้ง
คุณรู้หรือไม่... สังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก มีฟีเจอร์ "การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ" (login approvals) เพื่อเพิ่มขีดความปลอดภัยสูงสุดให้กับบัญชีผู้ใช้งาน โดยสามารถเลือกใช้ฟีเจอร์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในหัวข้อการตั้งค่าความปลอดภัย (security settings) เมื่อเปิดการใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวแล้ว ระบบจะให้คุณกรอกรหัสความปลอดภัยพิเศษทุกครั้ง เมื่อคุณเข้าใช้งานจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่คุณไม่เคยใช้มาก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งการป้องกันที่ไม่ควรมองข้าม

อย่าละเลยการรายงาน สิ่งที่ไม่เหมาะสม!
สำหรับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่พบพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือการละเมิดเงื่อนไขการใช้งาน สามารถกรายงานให้ทางเฟซบุ๊กทราบได้ทันที ด้วยวิธีที่ง่ายๆ คือการกดลิงค์ "Report" (รายงาน) ที่อยู่ใกล้กับโพสต์ ไทม์ไลน์ และเพจ

บล็อกให้สิ้น! ถ้าคุณถูกคุกคาม
หากคุณถูกคุมคามผ่านกล่องข้อความ คุณสามารถคลิกรายงานพฤติกรรมซึ่งจะบล็อกผู้ที่ส่งข้อความดังกล่าวอัตโนมัติ โดยการรายงานพฤติกรรมไม่เหมาะสมทุกครั้งจะไม่มีการเผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ

สิทธิส่วนบุคคล ทำได้!
เมื่อคุณล็อกอินเข้าเฟซบุ๊ก และพบว่ามีรูปที่ไม่เหมาะสม หรือคุณไม่อยากให้รูปดังกล่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ คุณก็สามารถใช้การรายงานทางสังคม ซึ่งเป็นการรายงานรูปภาพของตนเองและส่งข้อความไปยังผู้โพสต์เพื่อขอให้นำรูปของคุณออกจากเฟซบุ๊กได้อีกด้วย

เรียนรู้กันแล้ว ทั้งโทษทางกฎหมาย และวิธีการป้องกันตนเองจากความเสี่ยง รวมถึงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อคลี่คลายปัญหา แต่หนทางที่ดีและปลอดภัยที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการดูแลการใช้งานของตนเอง หากคุณใช้งานด้วยพฤติกรรมไร้ความเสี่ยง และหมั่นตรวจสอบระดับความปลอดภัยให้ตนเองอยู่เสมอ เชื่อว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายคงไม่มีโอกาสกล้ำกลายคุณได้มากนัก แต่หากเกิดเรื่องร้ายแรงหรือเสื่อมเสียแก่ตัวคุณเข้าให้ในซักวัน... รีบแจ้งความ ดำเนินคดีเอาผิดกับวายร้ายให้สิ้นซาก คงจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด.


ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์  6 ส.ค. 2557 05:30

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน