เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ผุดทั่วอีสาน ชาวบ้านเดือนร้อน “หวั่นกระทบสุขภาพ”

tel001

สมาคมผู้บริโภคจ.ขอนแก่น พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน 26 อำเภอ และผู้ได้รับผลกระทบจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ร้อง กสทช.เร่งจัดการปัญหาการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “การจัดการปัญหาร้องเรียนเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์” ที่ โรงแรมอำนวยสุข อ.เมือง จ.ขอนแก่น ในงานเสวนาฯ มีผู้เข้าร่วมเสวนาจากทั้ง เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  26 อำเภอ จำนวน 50 คน ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการตั้งเสาโทรศัพท์ในชุมชน และทนายอาสา เนื่องจากที่ผ่านมาทางสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในหลายพื้นที่ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น  บุรีรัมย์  นครราชสีมา  หนองบัวลำภู  มหาสารคาม กาฬสินธุ์  สกนคร  และอุดรธานี  ซึ่งเป็นกรณีพิพาทที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  บางพื้นที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง    เนื่องจาก  กสทช. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาร้องเรียนของผู้บริโภคได้  เพื่อเป็นการให้ความสำคัญต่อปัญหากรณีดังกล่าว กสทช. ควรแก้ไขปัญหาการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชนอย่างเร่งด่วนก่อนที่ทุกข์ของผู้บริโภคจะมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 


นายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ  ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า “วัตถุประสงค์การจัดเวทีในครั้งนี้  เพื่อให้ผู้ร้องเรียนได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหาของตนเอง  อีกทั้งรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ  ซึ่งแยกเป็น 3 ส่วนคือ  1.การจัดการโดยชุมชนต้องรวมตัวกันตามสิทธิชุมชนที่จะไม่ให้เสาตั้งใกล้ชุมชน  2. การร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กสทช.  และ 3 เมื่อไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ผู้ร้องเรียนมีสิทธิร้องต่อศาลปกครอง  ซึ่งต้องมีการเตรียมเอกสาร  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่าหน่วยงานที่ร้องเรียนไปไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคและที่สำคัญปัญหาในเรื่องการตั้งเสาโทรศัพท์ในชุมชนกลุ่มผู้เดือดร้อนต้องรวมกันส่งเสียงไปให้ กสทช.  เปลี่ยนแปลงนโยบายมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคต่อไป”


“ปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนคือรับทราบอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจากเสา  จึงอยากให้ย้ายเสาออกไปจากพื้นที่  ผู้ร้องบอกเล่าว่าตนเองมีอาการป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่นมีอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  คลื่นไส้  อาเจียน  หลงลืมบ่อยๆ และได้รับข้อมูลอันตรายต่อสุขภาพของเสาจากสื่อต่างๆ จึงเกิดความวิตกกังวลและขอให้ย้ายเสาออกจากพื้นที่  บริษัทเอาเสามาตั้งโดยชาวบ้านไม่รู้เรื่อง  ไม่มีการทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน   เกิดฟ้าผ่าบ่อยๆหลังจากมีการตั้งเสาส่งสัญญาณและเมื่อมีฟ้าผ่า ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย   ดังนั้นจึงมีข้อเสนอเพื่อไม่เกิดปัญหาในระยะยาวคือ ให้ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์การทำความเข้าใจกับประชาชนให้มีความชัดเจนรวมถึงการออกประกาศระยะคุ้มครองความปลอดภัยเช่น ห้ามมิให้ก่อสร้างเสาภายในรัศมี 400 เมตร ในเขตชุมชน , หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น  ควรสนับสนุนให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนพิจารณาออกใบอนุญาตก่อสร้างเสา และ ตามข้อเสนอของ ดร.สุเมธ  วงศ์พานิชเลิศ  กสทช. ควรปรับหลักเกณฑ์การแผ่คลื่นให้ลดลง เช่น 0.6  โวลท์ต่อเมตร หรือเท่ากับความหนาแน่นกำลังคลื่นที่ 1 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร ตามหลักการสากล เรื่อง การป้องกันไว้ก่อน  แม้จะมีจำนวนเสามากขึ้นก็ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า” นายโสภณ  หนูรัตน์  นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า


ทางด้านผู้ร้องเรียนที่ไม่ต้องการจะระบุชื่อ  กล่าวว่า  การร้องเรียนของตนร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  ขั้นต่อไปคงต้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมต่อไป


จากกรณีปัญหาดังกล่าวเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายทนายอาสา และกลุ่มผู้ร้องเรียนได้มีการทำข้อเสนอโดยผู้เข้าร่วมเวที มีดังนี้


1.การรวมตัวกันของผู้ร้องเรียน


2.สร้างเครือข่ายนักศึกษา ให้ความรู้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ


3.นำข้อมูลที่ได้รับไปขยายต่อในชุมชน เฝ้าระวังในพื้นที่ใช้บทเรียนที่ได้เป็นหลักในการร้องเรียนด้วยตนเอง


4.ในการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ อย่างถูกต้อง


5.ปรับปรุงกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน (ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดหาพื้นที่ให้บริษัทตั้งเสา,ใช้กล่องขนาดเล็กเป็นตัวส่งสัญญาณ)


6.นำเสนอประเด็นปัญหา ในสมัชชาสุขภาพจังหวัด

 

 

นายมารุต  พลายอยู่วงษ์ (อาสาสมัครผู้บริโภค)  ศูนย์ข่าวผู้บริโภคขอนแก่น  รายงาน

ภาพประกอบ : manager online

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน