องค์กรผู้บริโภค เสนอ คสช.คูปองต้องไม่เกิน 690 บ. จัดการเด็ดขาดธุรกิจ ลวงขายกล่องทีวีดิจิตอล

IMG_1022
อนุกรรมการองค์การอิสระฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม และ องค์กรผู้บริโภคเสนอให้คสช เสนอ คสช. ให้กำหนดราคาคูปองไม่เกิน 690 บาท ป้องกันกลุ่มพ่อค้าหัวใสเก็บสำเนาบัตรปชช.ผ่านตัวแทนจำหน่ายและผู้นำชุมชนทั่วประเทศ แนะกสทช.แจงผู้บริโภคกรณีพื้นที่ทดลองออกอากาศทีวีดิจิตอล วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค – เมื่อเวลา 11.00 น. นางมณี จิรโชติมงคลกุล อนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค(ภาคประชาชน) ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ได้จัดงานแถลงข่าว “คูปองต้องไม่เกิน 690 บาท จัดการเด็ดขาดธุรกิจ ลวงขายกล่องทีวีดิจิตอล” เพื่อเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กำหนดราคาคูปองสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอลไม่เกิน 690 บาท พร้อมให้จัดการพ่อค้าหัวใจแจกใบปลิวเก็บบัตรประชาชนแลกคูปอง

manee-jirachotmongkongul
นางมณี จิรโชติมงคลกุล กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่กทม. ว่า “ขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีแจกใบปลิวเกี่ยวกับกล่องทีวีดิจิตอล และมีตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำชุมชนแจ้งให้คนในชุมชนนำสำเนาบัตรประชาชนมาให้เพื่อเป็นหลักฐานในการจองกล่องทีวีดิจิตอล ซึ่งทางกรรมการองค์การอิสระฯ เกรงว่าการที่ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้นำชุมชนมีการเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะสำเนาบัตรประชาชนสามารถนำไปใช้เป็นเอกสารทำธุรกรรมต่างๆ แทนบัตรประชาชนตัวจริงได้...”

saree
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมข้อมูลสถานการณ์ว่า นอกจากในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วยังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการแจกใบปลิว และเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนในพื้นที่อื่นอีกหลายจังหวัด เช่น พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ พะเยา และนครราชสีมา โดยมีบริษัท จำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลอย่างน้อย 4 บริษัท ได้แก่ บริษัทแฟมิลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทเจเนซิส มีเดียคอม จำกัด บริษัทโซกู๊ด โกบอล จำกัด และบริษัท การศึกษาก้าวไกล จำกัด ทั้งที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ถูกร้องเรียนและในหลายพื้นที่ บางบริษัทเพิ่งได้รับจดทะเบียนบริษัทเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และบางจังหวัดยังไม่มีการดำเนินการออกอากาศทีวีดิจิตอลในปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ควรดำเนินการทางกฎหมาย และเร่งประสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบก่อนมีการแจกคูปองในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้

จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค จึงขอเรียกร้อง ต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.    ขอให้คสช. กำหนดมูลค่าคูปอง ไม่เกิน 690 บาท ตามราคาตั้งต้นประมูล เนื่องจากต้นทุนไม่ถึง 500 บาท โดยเห็นได้จากข้อมูลล่าสุดของบริษัทอาร์เอส มีต้นทุนเพียง 475 บาทเท่านั้น ที่สอดคล้องกับการศึกษาขององค์กรผู้บริโภคว่า 512 บาท เป็นราคาที่มีกำไร  ทำให้มีผลต่างกำไรเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ปัญหาราคาคูปองที่ไม่ได้สะท้อนต้นทุนราคาที่แท้จริง ทำให้สินค้าในท้องตลาดสูงเกินจริงเป็นภาระแก่ผู้บริโภค และเกิดกำไรจำนวนมหาศาลขึ้น ทำให้ดึงดูดบรรดาพ่อค้าหัวใสทั้งหลายให้เข้ามาแสวงหาประโยชน์ เมื่อคสช. ชะลอโครงการนี้ ต้องมีการดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส มีมูลค่าคูปอง ไม่เกิน 690 บาท สมเหตุสมผล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติที่คาดว่าจะเกิดความเสียหายไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณมากกว่า 25,000 ล้านบาท และเป็นเหตุให้ประชาชนที่ไม่ได้รับข้อมูล อาจจะถูกหลอกลวง และหาประโยชน์จากเรื่องนี้ รวมถึงผู้บริโภคต้องมีภาระต้องจ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 300 บาท ในการซื้อของแพงในท้องตลาด

2.    ขอเรียกให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่รับจดทะเบียนและรับรองมาตรฐานของกล่องทีวีดิจิตอล จัดการขั้นเด็ดขาดไม่ให้มีการดำเนินการ พร้อมเร่งการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลให้แก่ผู้บริโภคทราบ ก่อนที่จะมีการแจกคูปองทีวีดิจิตอลในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อกล่องทีวีดิจิตอลจากข่าวทีมีมิจฉาชีพ อาศัยความไม่รู้ของผู้บริโภค ผลิตและจำหน่ายกล่องทีวีดิจิตอลเถื่อน ตราอักษร MITRON รุ่น RV-003  ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตผลิต และจำหน่ายกล่องจาก กสทช. ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 อันเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค

3.    หยุดเก็บบัตรประชาชนจากผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องไม่ร่วมมือให้สำเนาบัตรประชาชน ซึ่งเหมือนกับการให้บัตรประชาชน เนื่องจากตัวสำเนาบัตรประชาชนที่ได้ไปนั้น สามารถนำไปแอบอ้างเพื่อทำธุรกรรมการเงินบางอย่างได้ เช่น สมัครบัตรเครดิต หรือ นำไปปลอมลายมือชื่อเพื่อใช้ในการทำใบมอบอำนาจปลอมและทำสัญญาซื้อขายสินค้า หรือแอบอ้างเพื่อใช้สิทธิทางการเมืองในอนาคต จึงขอเตือนไปยังผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการนำสำเนาบัตรประชาชนไปใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในการใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบการแลกซื้อกล่องทีวีดิจิตอล ซึ่งหากเป็นไปได้ ในขณะนี้ ยังไม่ควรส่งมอบสำเนาบัตรประชาชนให้แก่ผู้ใด จนกว่าจะได้รับคูปองแลกซื้อทีวีดิจิตอล เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไปขณะนี้ เนื่องจากมีผู้แอบอ้างกับประชาชนว่าเป็นตัวแทนจาก กสทช. มาอำนวยความสะดวกในการจัดหากล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) ให้ โดยให้ประชาชนถ่ายสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาให้ทางบริษัทแล้วทางบริษัทจะนำกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) มาแจกให้เลย โดยที่ประชาชนไม่ต้องนำคูปองจาก กสทช. ไปแลกซื้อกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ (Set Top Box) เอง ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า การกระทำของผู้ประกอบการในลักษณะเช่นนี้ อาจเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4.    ผู้นำชุมชน ควรยุติการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า เนื่องจากกลยุทธ์การตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง ของบริษัทขายกล่องจะติดต่อผ่านทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบุคคลเหล่านี้เพื่อให้ช่วยในการประชาสัมพันธ์กล่องทีวีดิจิตอลของตนเอง และให้ผู้บริโภคนำสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านมาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการสั่งจองกล่องทีวีดิจิตอล โดยในใบโฆษณากล่อง ไม่มีการกำหนดราคากล่องไว้เลย อีกทั้งไม่มีการแจ้งข้อมูลถึงที่ไปที่มาแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจว่า หากแจ้งสิทธิจองไปแล้วจะต้องนำคูปองไปแลกซื้อกับบริษัทนั้นเท่านั้น ไม่สามารถนำคูปองไปแลกใช้สิทธิเพื่อแลกซื้อกล่องอื่นได้อีก อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดการค้ากับประชาชน นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยอีกว่าการกระทำของบริษัทดังกล่าวจะมีการให้ผลประโยชน์แก่ตัวแทนชุมชนที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์กล่องหรือไม่

จากข้อมูลต้น นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า การขายกล่องต้องมีการขึ้นทะเบียนกับ กสทช. ให้เป็นไปตามประกาศที่ กสทช. กำหนด ดังนั้น ตัวแทนจำหน่าย ก็ควรไปขึ้นทะเบียนด้วย

boonyuen-siritamด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. ไม่ทราบทำหน้าที่เพียงแค่ออกใบอนุญาต แต่ควรมีคุณธรรมจริยธรรมในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค หากเป็นไปได้ควรแยกคนออกใบอนุญาต กับ คนกำกับดูแล ออกจากกันและมีอิสระในการทำหน้าที่ นอกจากนี้ สตง. ควรเข้ามาตรวจสอบ เพราะการประมูลคลื่นเป็นทรัพย์สิน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน