วันนี้ (5 พ.ย.56) ที่สำนักงาน กสทช. ภายหลังการเป็นประธานการประชุมร่วมกับตัวแทนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน ๕ รายคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบริษัททรู คือ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด บริษัทเรียล ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในการแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบสิทธิในการได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาเลิกกัน พร้อมทั้งการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับยอดเงินคงเหลือในระบบ วิธีการช่องทางและสถานที่ในการรับเงินคืนเพื่อใช้เป็นหลักฐานและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคได้รับเงินคืนได้ง่ายขึ้น โดยผู้ให้บริการ ๓ รายคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบริษัท ทรู คือบริษัท เรียลมูฟ จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ตกลงร่วมกันว่า ในกรณีที่ผู้บริโภคมีเงินคงเหลืออยู่ในระบบ แต่จำนวนวันใช้งานหมด หากบริษัทฯ จะยกเลิกบริการกับผู้บริโภค บริษัทฯ จะส่ง เอสเอ็มเอส แจ้งยอดเงินคงเหลือในระบบ และช่องทางในการติดต่อรับเงินคืนให้ผู้บริโภครับทราบ โดยสาระสำคัญของเอสเอ็มเอส ดังกล่าว จะใช้เป็นหลักฐานในการขอรับเงินคืน และบริษัทฯ จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน ๓๐ วัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด
“ที่ผ่านมา หากผู้บริโภคโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินถูกยกเลิกบริการเนื่องจากวันใช้งานหมด จะถูกยึดเงินคงเหลือในระบบทั้งหมด และต้องร้องเรียนกับสำนักงาน กสทช. เพื่อขอเงินคงเหลือดังกล่าวเป็นรายๆ ไป โดยข้อมูลจากเรื่องร้องเรียนพบว่ามีการร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่หลักร้อยบาทจนถึงหลายพันบาท นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังประสบปัญหาเนื่องจากไม่มีข้อมูลว่าตนเองมีเงินคงเหลืออยู่ในระบบจำนวนเท่าใด ทำให้การเรียกเงินคืนทำได้ยากหรือต้องสละสิทธิในเงินดังกล่าวไป แต่ต่อไปนี้บริษัทฯ จะต้องแจ้งเงินคงเหลือในระบบผ่านเอสเอ็มเอส ให้ผู้บริโภคทราบเพื่อให้ผู้บริโภคนำเอสเอ็มเอสดังกล่าวเป็นหลักฐานไปรับเงินคืนจากบริษัทได้เลย เมื่อถูกยกเลิกบริการ หรือเมื่อสัญญาเลิกกัน เพราะเป็นสิทธิตามประกาศ กสทช. อยู่แล้ว“ นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นั้น หากมีเงินคงเหลือในระบบ ทั้งสองบริษัทจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ อันจะเป็นทางเลือกในการใช้บริการของผู้บริโภคหากไม่ต้องการถูกกำหนดระยะเวลา การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออินเทอร์เน็ตในระบบเติมเงิน
ทั้งนี้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก มติกทค. ครั้งที่ 38/2556 วันที่ 29 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมามอบหมายให้สำนักงาน กสทช. จัดประชุมร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงิน เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติในประเด็นดังกล่าวร่วมกัน