กมธ.เรียก สนง. กสทช. 4 กทค. ชี้แจงยืดอายุคลื่น 1800 และ 4 กทค. ฟ้องทีดีอาร์ไอ-ไทยพีบีเอส วันที่ 10 ต.ค. นี้ หลังเลื่อนมาจากวันที่ 20 ก.ย….

nbtc

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภามีนายสาย กังกเวคินเป็นประธาน มีมติรับเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ขยายเวลาใช้คลื่นสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้เอกชน และรัฐวิสาหกิจ ให้บริการต่ออีก 1 ปี หลังจากหมดอายุสัญญาสัมปทาน เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2556 ไว้ตรวจสอบ2 ประเด็นคือ 1.การขยายเวลาออกไป 1 ปี ทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ 2. กรณี กรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) 4 คน และ สำนักงาน กสทช. ฟ้องคดีหมิ่นประมาท นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสื่อมวลชน เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หลังจากวันนี่ คณะกรรมาธิการฯ เชิญ นางสาวเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอและนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ ที่นี่ ไทยพีบีเอส มาชี้แจงให้ข้อมูลทางวิชาการ และการเสนอข่าว


นายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า วันที่ 10 ต.ค.2556กมธ.ฯ มีมติให้เชิญนายฐากร ตัณฑสิทธิ์เลขาธิการ กสทช.กรรมการกทค. และสำนักงานกสทช.มาชี้แจง มาชี้แจงที่รัฐสภาอีกครั้ง พร้อมให้ประสานเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.)มาร่วมรับฟังด้วย เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว


นอกจากนี้ ขอให้ไทยพีบีเอส นำสำเนาเทปออกอากาศที่เสนอข่าวเกี่ยวกับสัมปทานเรื่องคลื่นความถี่ 1800 ทั้งหมดมาให้กมธ. ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเทปที่นางสาวเดือนเด่นให้สัมภาษณ์เท่านั้น แต่รวมถึงการดำเนินรายการในช่วงคิดยกกำลังสองในรายการที่นี่ไทยพีบีเอสด้วย โดยมี นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอร่วมดำเนินรายการและขอให้ นางสาวเดือนเด่นในฐานะนักวิชาการส่งข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับประเด็น คลื่น 1800 ให้กมธ.ด้วย


อย่างไรก็ตามหากการสอบสวน พบว่า มีมูลการกระทำผิด จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ตามขั้นตอนต่อไป


นางสาวณัฏฐากล่าวว่า การตรวจสอบประเด็นสาธารณะ เป็นหน้าที่ของไทยพีบีเอสมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค และการนำเสนอข่าว หรือ รายงาน รวมถึงเนื้อหาในช่วงต่างๆ ของทางรายการ มีความพยายามจะทำให้สมดุล และรอบด้านตามหลักการทำข่าวปกติ และการเสนอข่าวเรื่องคลื่น 1800 ไทยพีบีเอส นำเสนอมาตั้งแต่เดือนส.ค.ต่อเนื่องเป็นช่วงๆ มีมุมมอง การตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่าย ทั้ง นักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทน กสทช. และ เครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งหากการนำเสนอประเด็นสาธารณะ เรื่องที่เกิดข้อสงสัยก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอและไม่ได้มี เฉพาะเรื่อง 1800 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น แต่ประเด็นสาธารณะอื่นๆ ไทยพีบีเอสก็นำเสนอรอบด้านเช่นกัน และหาก กทค.คิดว่า ยังไม่รอบด้านเพียงพอ ก็สามารถติดต่อผ่านทางรายการ เพื่อออกเวทีสาธารณะ ดีเบตให้สังคมเข้าใจได้


นางสาวเดือนเด่นกล่าวว่า การให้ข้อมูลด้านวิชาการ เป็นการตั้งข้อสังเกตที่กระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และที่ผ่านมาในฐานะร่วมอยู่ในอนุกรรมการ 1800 ของกสทช. ก็เคยให้คำแนะนำ กทค.แล้วว่า หาก กทค. รับฟังข้อเสนอของอนุกรรมการฯ ตั้งแต่ต้นปี ก็อาจทำให้ กทค.เตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านคลื่น 1800 ได้ทัน แต่ไม่ใช่การเตรียมตัวเพียงแค่เดือนกว่าก่อนสัมปทานสิ้นสุด และการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวเลขความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่นำ คลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานมาประมูล ก็เป็นตัวเลขที่มาจากสถาบันอนาคตไทย และประเทศอังกฤษ ก็เคยมีผลศึกษาไว้ในช่วงที่จัดประมูลเช่นกัน
ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ได้ทำจดหมายแจ้ง กมธ.ว่าได้หารือ กับ กทค.อีก 3 คนแล้ว โดยเห็นว่า ขอชี้แจง กมธ.เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อความชัดเจน และมอบหมายให้ สำนักงานกสทช.เป็นผู้ชี้แจงแทน แต่นายฐากร เลขาธิการ กสทช.ส่งหนังสือลงวันที่ 20 ก.ย.2556แจ้งว่า ติดภารกิจด่วนที่ไม่อาจเลี่ยงได้ จึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุม กมธ.ตามกำหนดวันดังกล่าวได้

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ http://www.thairath.co.th/content/tech/372282 วันที่ 26 ก.ย. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน