ปริมาณการใช้งานโซเชียล เน็ตเวิร์ค หรือ สื่อสังคมออนไลน์ พุ่งขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีมาอยู่ในมือ
จากตัวเลขการเติบโตของจำนวนสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตของไทยและทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน หรือผู้ใหญ่สูงวัย ต่างใช้เทคโนโลยีกันอย่างแพร่หลาย แต่มักขาดความรู้เท่าทัน นักกฎหมายและนักวิชาการร่วมกันให้ข้อมูลในงานประชุมเชิงวิชาการว่าด้วย เทคโนโลยีและสิทธิพลเมืองประจำปี 2556 หัวข้อ “หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง : ความเป็นส่วนตัวออนไลน์และการสอดส่องการสื่อสาร โดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า โซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลมากขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้การกระทำความผิดบนโลกไซเบอร์หลีกเลี่ยงได้ยาก อาชญากรรมบนไลน์เกิดขึ้นทุกวัน แฟ้มคดีที่เกิดบนอินสตาแกรมและเฟซบุ๊คมีอยู่หลักพัน บางคนบอกว่ามีเป็นหลักหมื่น ที่เจ้าหน้าที่สามารถทำได้มีทั้งทางลับและตามกฎหมายแล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้คดีที่ปิดไม่ได้ ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลที่มีปัจจุบันทั้งชื่อ นามสกุล อาชีพ สถานะทางครอบครัว ประวัติ รูปถ่าย เลขบัตรประจำตัวประชาชน และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ กำลังไหลเวียนอยู่บนโลกไซเบอร์ พร้อมถูกเก็บบันทึกไว้บนเซิร์ฟเวอร์ โดยเจ้าตัวไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป แม้กระทั่ง “กลุ่มปิด” บนเฟซบุ๊ค ก็ไม่มีอะไรปิดได้จริงบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งยังมีกรณีศึกษาในต่างประเทศ ที่เกิดการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ให้ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ หรือขายข้อมูลให้บริษัทเอกชนเพื่อวิเคราะห์ทางการตลาด โดยข้อมูลที่ถูกขายทอดออกไปเหล่านั้น เกิดจากผู้ใช้ทั่วไปมักไม่ได้อ่านข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้งานแอพพลิเคชั่น โดยละเอียด เช่นเดียวกันกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค นับเป็นการบังคับโดยสมัครใจ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงมุมของเศรษฐกิจ แต่ยังมีทั้งส่วนบุคคลที่หลายกรณีทำให้เสียชื่อเสียง การงาน ถูกนำข้อมูลไปเผยแพร่จนเกิดความเสียหาย นำมาซึ่งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การไล่ล่า เฝ้าคุกคาม และตามรังควานบนโลกออนไลน์ หรือลามไปสู่ชีวิตประจำวัน
ปัญหาซับซ้อน แถมนำภัยซุกซ่อนมากับโลกออนไลน์ ไม่เพียงความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้ข้อมูลเสียหาย สูญหาย หรือสูญเสียทรัพย์สิน หากการที่ประเทศไทยยังมีปัญหากับตัวกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการบังคับใช้ในทุกๆ รัฐบาล การไม่มีกฎหมายเฉพาะทาง จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาบังคับใช้แทน ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนค่อนข้างเต็มรูปแบบ จากแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แก้ปัญหา โดยการตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่แบบเฉพาะงานขึ้นมาเพื่อให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดมหันต์ ทั้งยังเกิดการสอบสวนทางลับทุกวัน ความทุกข์ความสุขของประชาชนในชาติ จึงไม่อาจพึ่งพาอำนาจรัฐได้ แถมบางครั้งกลับกลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน
หากจะก้าวให้ทันอารยประเทศ ไทยควรมีหลักเกณฑ์สำหรับการจัดเก็บข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ชัดเจน เพื่อจะไม่นำไปสู่การนำข้อมูล หรือความคิดเห็นในอดีตไปปรักปรำผู้ถูกกล่าวหา พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสรับรู้ ชี้แจง และปกป้องสิทธิของตัวเอง หลายๆ ประเทศได้ศึกษาเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ทั้งจากมุมทางกฎหมาย สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และเทคโนโลยีมานานแล้ว ประเทศไทยก็ควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีเวทีนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อสิทธิของพลเมืองไทยที่ทัดเทียม ทั่วถึง ตามหลักหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง ทุกคนเท่าเทียมกัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 ก.ย. 2556