อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม‏

เผยผลการรับเรื่องร้องเรียน พบ มาตรฐานการให้บริการถูกร้องเรียนมากที่สุด ขณะที่ผลจากการสิ้นสุดสัญญาคลื่น ๑๘๐๐ พบผู้บริโภคร้องถูกมัดมือย้ายค่ายโดยไม่รู้ตัว แถมยังเสียสิทธิประโยชน์เดิมเกลี้ยง

(23 ก.ย.56) ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากรายงานผลการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม-๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ นั้นพบว่า มีจำนวนเรื่องร้องเรียนด้านกิจการโทรคมนาคมทั้งสิ้น ๑,๗๔๙ กรณี เป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน ๑,๑๘๗ กรณี หรือร้อยละ ๘๕.๐๖ โดยแบ่งเป็น ๑) มาตรฐานการให้บริการมีจำนวน ๒๘๘ กรณี หรือร้อยละ ๒๔  ๒) การคิดค่าบริการผิดพลาด จำนวน ๒๕๐ กรณี หรือร้อยละ ๒๑.๐๖   ๓) คือ ปัญหาเกี่ยวกับการถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ จำนวน ๑๖๖ กรณี หรือ ร้อยละ ๑๓.๙๘  ๔) คือ การคิดค่าบริการไม่เป็นไปตามอัตราขั้นสูง จำนวน ๑๓๗ กรณี หรือร้อยละ ๑๑.๕๔ และ๕) คือ ปัญหาจากบริการเสริม จำนวน ๙๑ กรณี หรือร้อยละ ๗.๖

ทั้งนี้การร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการมากที่สุดนั้น ประเด็นที่พบคือ คุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ไม่ดีและหลุดบ่อย  ไม่สามารถใช้บริการที่สมัครได้ ปัญหาการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือไม่ได้รับความยินยอม

สำหรับกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ ๑๘๐๐ โดยผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น จากการรับเรื่องร้องเรียนพบว่า มีผู้ร้องเรียนเรื่องนี้จำนวน ๓๕ กรณี และรับไว้เป็นเรื่องร้องเรียนจำนวน ๗ กรณี โดยพบว่าผู้ให้บริการรายหนึ่งได้เปลี่ยนเครือข่ายให้ผู้บริโภคโดยไม่ได้รับความยินยอมและไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และต้องใช้โปรโมชั่นที่มีราคาค่าบริการที่สูงกว่าเดิม และทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่เดิมของตนไป เช่น การถูกตัดวันจาก ๑ ปีเหลือเพียง ๖๐ วัน ถูกตัดโบนัสโทรฟรีที่มีอยู่เดิม

“ผู้บริโภคต้องใช้วิธีสังเกตหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตัวเองจากสัญลักษณ์ค่ายหนึ่งกลายมาเป็นสัญญาลักษณ์อีกค่ายหนึ่ง โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ทราบ เหมือนถูกมัดมือย้ายค่ายโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ให้บริการรายหนึ่งได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ใช้บริการในเครือข่ายของตัวเองเพื่อที่จะดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้แบบอัตโนมัติ ซึ่งตามมติกทค.แล้ว ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิดำเนินการโอนย้ายแบบยกล็อตได้ แต่ต้องให้สิทธิผู้บริโภคในการเลือกเองว่า ต้องการย้ายไปอยู่กับผู้ให้บริการรายใด” นางสาวสารีกล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน