“สังคมออนไลน์” แม้จะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็มี “ภัยแฝง” ตามมาได้เหมือนกัน หากไม่ระมัดระวังอาจตกเป็นเหยื่อเช่นเดียวกับ น.ส. พูลทรัพย์ พลเขตร์ เล่าประสบการณ์เตือนภัยว่า ก่อนหน้านี้ได้รับอินบ็อกซ์จากรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้พบกันนานแล้ว ตั้งแต่ไปอยู่ต่างประเทศ เมื่อรุ่นพี่ทักมาด้วยความดีใจจึงคุยกันในอินบ็อกซ์ถามสุขทุกข์ตามปกติ แต่รุ่นพี่มักจะไม่ค่อยตอบคำถามของเรา พอเราถาม มักจะถามกลับว่าเป็นอย่างไรบ้าง สบายดีหรือเปล่า
“ช่วงแรกๆ ฟังแล้วก็ รู้สึกงงๆ เดือดร้อนเงิน แต่ทำไมไม่เอาเงิน ให้เราไปซื้อบัตรเติมเงินแทน แต่ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอคุยไปคุยมาก็เข้าเรื่องเลยว่า น้องช่วยพี่หน่อยได้ไหม ? เราตอบไปว่าได้ค่ะ เขาก็ถามเราว่า ตอนนี้เรามีเงินสดอยู่กับตัวหรือเปล่า ประมาณ 4,000 บาท เราก็บอกว่ามี เขาเลยให้เราไปซื้อบัตรเติมเงินโทรศัพท์เครือข่ายหนึ่ง เขาให้เราไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง เป็นบัตรเติมเงิน 1,000 บาท จำนวน 4 ใบ”
น.ส.พูลทรัพย์เล่าต่อว่า หลังจากรับปากแล้ว ปรากฏว่า รุ่นพี่พยายามบอกให้ออกไปซื้อให้ได้ เราบอกว่า ออกไปไม่ได้เพราะฝนตก รุ่นพี่ยังพยายามคะยั้นคะยอบอกว่า ไม่เห็นใจเหรอ เดือดร้อนจริงๆ จึงบอกไปว่า ถ้าจะให้ไปซื้อบัตรเติมเงินคงไม่ไป แต่จะโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแทน ให้บอกเลขบัญชีมา แต่รุ่นพี่ก็ไม่ยอมให้หมายเลขบัญชี อ้างว่าบัตรเอทีเอ็มอยู่กับแฟน หากโอนไปให้ก็ไม่ได้เงินอยู่ดี และยังให้เราออกไปที่ร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อบัตรเติมเงิน
จากนั้นรุ่นพี่บอกว่า หากซื้อเสร็จแล้วจะบอกวิธีการทุกอย่าง ทำให้เรารู้สึกแปลกใจมาก พยายามซักไซ้ว่า ใช่รุ่นพี่ที่เรารู้จักจริงหรือไม่ เขายืนยันว่า ใช่ จึงบอกให้โทรศัพท์มาหา แต่เขาอ้างว่าเพิ่งซื้อโทรศัพท์ใหม่ ยังไม่ได้บันทึกเบอร์เราไว้ พอได้ฟังคำตอบ ก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า ใช่รุ่นพี่จริงหรือไม่ เพราะตั้งแต่รู้จักกับรุ่นพี่คนนี้ ไม่เคยมาขอยืมเงินเลย
“เราเริ่มรู้สึกว่าโดนหลอกแน่ๆ จึงลองถามเพื่อนในกลุ่มเรื่องของรุ่นพี่คนนี้ จึงรู้ภายหลังว่า เฟซบุ๊กของรุ่นพี่โดนแฮ็ก
แต่เขาไม่ทราบว่าถูกแฮ็กไปได้ยังไง ตอนนี้เฟซบุ๊กก็ยังใช้ภาพของรุ่นพี่อยู่นะคะ แต่แค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้นเอง ต่อมาได้ไปศึกษาเรื่องบัตรเติมเงินลักษณะนี้ พบว่ามีบริการแลกบัตรเติมเงินเป็นเงินสดได้” น.ส.พูลทรัพย์กล่าว ทีมข่าวอาชญากรรม ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กส่วนตัวของอีกหลายคน ที่ถูกแฮ็กในลักษณะนี้ พบว่ามีวิธีการให้ซื้อบัตรเติมเงินเช่นเดียวกัน กระทั่งมีผู้ตั้งกระทู้เตือนภัยในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันยังพบการแนะนำวิธีการแฮ็กเฟซบุ๊กในรูปแบบต่างๆ
พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผงส.ผนพ.บก.ปอท. เปิดเผยว่า การแฮ็กข้อมูลมีหลายรูปแบบ อาจจะหลุดออกไปด้วยความเผอเรอต่างๆ ไม่ว่าการลืมลงชื่อออกจากระบบข้อมูลเอกสาร ซึ่งคอมพิวเตอร์ที่ใช้ติดต่อกันทางเฟซบุ๊กอาจจะไปดาวน์โหลดบางอย่างในเว็บไซ ต์อื่นๆ ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้อาจมีชุดคำสั่งให้คอมพิวเตอร์เราทำอะไรก็ได้ เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเราได้ทุกอย่าง
“อุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตสามารถถูกแฮ็กได้หมด มือถือ ก็เช่นเดียวกัน สามารถถูกแฮ็กได้ ต้องระวังในส่วนของเรา เช่น คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ต้องเป็นของแท้ นอกจากนี้เฟซบุ๊กก็ไม่มีความจำเป็นต้องใส่รายละเอียดส่วนตัวอย่างละเอียดนัก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ก่อเหตุได้ หากเจอให้โอนเงิน แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ และคนที่ยืมอ้างว่าไม่มีมือถือ หรือไม่มีเบอร์ ให้คิดไว้ว่าถูกหลอกแล้ว” พ.ต.ท.โอฬารแนะนำ