พบผู้บริโภคเจอซิมดับก่อนสัมปทานหมด เตือนย้ายค่ายให้ลูกค้าอัตโนมัติ เสี่ยงผิดกม.

630

พบผู้ใช้บริการมือถือค่ายทรูมูฟบางส่วนประสบปัญหา “ซิมดับ” หลังถูกโอนย้ายไปยังบริการทรูมูฟ-เอชโดยอัตโนมัติและถูกล็อกห้ามย้ายกลับ หรือย้ายไปค่ายอื่นใน 90 วัน “หมอลี่” ชี้การโอนย้ายบริการเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องแสดงเจตนา การบังคับย้ายเสี่ยงผิดกฎหมาย

 

จากกรณีสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเครือข่ายทรูมูฟ และดีพีซีหรือดิจิตอลโฟนกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ศกนี้ โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่ กสทช. เรียกว่า “ประกาศห้ามซิมดับ”

 

ล่าสุด มีรายงานว่า เกิดปัญหา “ซิมดับ” ขึ้นแล้ว โดยพบผู้ใช้บริการของเครือข่ายทรูมูฟมีการร้องเรียนและการโพสต์ข้อความตาม เว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก ว่าประสบปัญหาไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ บางกรณีไม่สามารถรับสายได้ บางกรณีใช้ไม่ได้ทั้งโทรออกและรับสาย ภายหลังจากที่ถูกโอนย้ายบริการไปยังเครือข่ายทรูมูฟ-เอช ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่มีการร้องเรียนและแสดงความคิดเห็นกันมาก เนื่องจากในการโอนย้ายดังกล่าวนั้น ทางผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการไม่ได้เป็นฝ่ายแจ้งความประสงค์ แต่เกิดจากการดำเนินการโดยอัตโนมัติของทางบริษัท

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัททรูมูฟ ได้เริ่มส่งข้อความสั้น (SMS) ถึงผู้ใช้บริการ แจ้งว่า ทาง กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทแจ้งว่าการให้บริการของบริษัทในคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลง 15 ก.ย. 56 และจะใช้งานต่อได้ไม่เกิน 15 ก.ย. 57 และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทจะดำเนินการอัพเกรดเลขหมายให้เป็นทรูมูฟเอชโดยอัตโนมัติก่อนวัน สิ้นบริการ 15 ก.ย. 56 กรณีไม่ต้องการอัพเกรดจะต้องโทรแจ้ง ซึ่งต่อมาปรากฏข้อความลักษณะเดียวกันบนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทด้วย

 

เรื่องดังกล่าวมีการวิจารณ์จากผู้ใช้บริการอย่างกว้างขวาง ในประเด็นที่ว่าเป็นรูปแบบของการบังคับโอนย้ายโดยผู้บริโภคไม่ได้เลือก และโอนย้ายก่อนถึงวันสัมปทานสิ้นสุดลง ตลอดจนมีประเด็นกระทบถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ เช่น ผู้บริโภคต้องการใช้โปรโมชั่นเดิม หรือบางรายไม่ได้อยากใช้บริการของทรูมูฟเอชและพร้อมจะยุติการใช้บริการไป พร้อมกับการยุติบริการของทรูมูฟ เป็นต้น

 

ต่อเรื่องนี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบเรื่องและได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. แล้ว เพื่อให้ตรวจสอบว่าการโอนย้ายผู้ใช้บริการโดยอัตโนมัตินั้นเป็นการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสอดคล้องกับมติ กทค. หรือไม่ ตลอดจนให้สำนักงาน กสทช. กำหนดแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย

 

“ในส่วนการวิเคราะห์ของผมเห็นว่าเรื่องการโอนย้ายอัตโนมัตินั้นขัดต่อ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม และเรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2549 เพราะไม่เป็นไปตามหลัก “เสนอสนองตรงกัน” ขณะเดียวกันก็ขัดต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วย เพราะประกาศข้อ 6 ระบุชัดเขนว่า “การคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิทธิของผู้ใช้บริการ” และข้อ 9 กำหนดว่า “ในการขอโอนย้ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้ผู้ใช้บริการยื่นคำขอ…” เพราะข้อกำหนดของบริษัทกลายเป็นว่า ใครไม่อยากถูกโอนย้ายต้องเป็นฝ่ายยื่นเรื่อง หากอยู่เฉยเท่ากับยอมรับการโอนย้ายอัตโนมัติ”

 

ประวิทย์ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวของบริษัทมีการอ้าง กสทช. ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ทั้งที่ความจริงที่ กสทช. ให้ทำคือให้แจ้งเรื่องวันสิ้นสุดสัมปทานและแจ้งสิทธิการโอนย้าย นอกจากนี้ในการพิจารณากรณีร่างประกาศเรื่องนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ก็ยืนยันหลักการโอนย้ายตามความสมัครใจของผู้บริโภคมาโดยตลอด การกระทำดังกล่าวจึงขัดกับมติ กทค. ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ที่จะบังคับให้บริษัทดำเนินการให้ถูกต้องตามมติและตามกฎหมาย

 

ส่วนประเด็นเรื่องมีปัญหาในการใช้บริการหลังโอนย้ายนั้น กสทช. ประวิทย์ชี้ว่าน่าจะเป็นข้อขัดข้องทางเทคนิค ซึ่งบริษัทจะต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขต่อไป แต่สิ่งที่มีหลักกฎหมายชัดเจนอยู่แล้วคือ หากผู้บริโภคประสงค์จะโอนย้ายค่ายเมื่อไร ทางผู้ให้บริการจะต้องตอบสนอง ไม่สามารถอ้างเรื่องต้องคงอยู่จนครบ 90 วันได้ เพราะ กสทช. ไม่เคยให้ความเห็นชอบกับการกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้บริการไปกำหนดกันเอาเอง ดังนั้นจึงขอส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิ โดยไม่หลงเชื่อคำบอกเล่าของพนักงานของบริษัท และหากประสบปัญหาก็แจ้งร้องเรียนมายัง กสทช. หมายเลข 1200 ได้

 

ที่มา: ประชาไท วันที่ 11 ก.ย. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน