จวก กสทช.ขัดเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ กรณีทีวีดิจิตอล แนะควรถอยมาตั้งหลัก
นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยหลังงานเสวนาเรื่อง “ทีวีสาธารณะ (ดิจิตอล) เพื่อใคร?” ว่า ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอะนา ล็อกไปเป็นระบบฟรีทีวีดิจิตอล ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังจะจัดสรรคลื่น สำหรับทำทีวีดิจิตอลถึง 48 ช่อง แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ดิจิตอล 3 ประเภทหลัก ดังนี้ สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลชุมชน 12 ช่อง, สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลธุรกิจ 24 ช่อง และ สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลสาธารณะ 12 ช่อง
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อสาธารณะ จำนวน 12 ช่อง กำลังเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม เนื่องจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. ได้กำหนดระยะเวลาในการเปิดให้มีการยื่นขอใบอนุญาตด้วยวิธี Beauty Contest ภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งในประเด็นนี้ นักวิชาการจากหลายภาคส่วน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใส และผลประโยชน์ทับซ้อน ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขอรับใบอนุญาตจัดสรรโทรทัศน์ดิจิตอล สาธารณะว่า อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่หน่วยงานราชการของรัฐเข้ามาดำเนินการ เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมขององค์กร หรือใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างบริษัทภายนอก รับงานทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้
นางสาวสุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ก่อนการให้ใบอนุญาต หรือ ปิดประมูล สิ่งสำคัญคือการทำวิจัยเชิงวิชาการให้ชัดเจนก่อน ซึ่ง กสทช.กำหนดจะดำเนินการเรื่องนี้ประมาณเดือนมีนาคม ส่วนตัวเห็นว่าควรถอยเรื่องนี้ออกมาก่อน
ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี ยุคดิจิตอลของไทยนั้น ยังไม่มีพูดคุยกันว่าจะนำดิจิตอลไปใช้อย่างไร เพื่อให้เกิดช่องทางที่กว้างมากขึ้น.
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยโพสต์ วันที่ 18 ก.พ. 56