สุภิญญา กลางณรงค์ แก้โจทย์ "ทีวีดิจิทัล" ไม่ให้ซ้ำรอย 3G

"สุภิญญา กลางณรงค์" เป็นอีก 1 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสียงข้างน้อยของการประชุมในเกือบทุกเรื่อง และการใช้ทวิตเตอร์แสดงความเห็น (คัดค้าน) แบบรายชั่วโมงของเธอ ก็ถูกหยิบยกเป็นประเด็นร้อนในที่ประชุมบอร์ด กสทช.อยู่บ่อยครั้ง "ประชาชาติธุรกิจ" จึงเปิดเวทีเพื่อสะท้อนปัญหาและอัพเดตบทบาทคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะบอร์ด ด้านกระจายเสียง (กสท.)



- กลายเป็นเป้าโจมตีภายในบอร์ดกันเอง
มี 2 มิติ บรรยากาศในบอร์ดกระจายเสียงไม่มีปัญหาอะไร แต่จะลำบากหน่อยในบอร์ดใหญ่ ซึ่งมีประชุมแค่เดือนละครั้ง เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าเราไม่เข้าไปยุ่งในบอร์ดใหญ่มากก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะบอร์ด กสท. แม้จะมีจุดยืนกันคนละด้าน แต่สามารถประสานจุดยืนให้วิน-วินทุกฝ่ายได้

แต่ พอเป็นบอร์ดใหญ่ บอร์ดฝั่งโทรคมนาคมเขาเห็นว่าเราไปล้ำเส้น ไม่ได้อยู่บอร์ดโทรคมฯแล้วไปให้ความเห็น ทำให้อะไรต่อมิอะไรลำบาก ที่เซ็งที่สุดคือเวลามีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างจะตัดสินด้วยการโหวต โดยไม่พยายามหา consensus ไม่เอาเหตุผลมาคุยกัน ถามว่าเราไม่รักองค์กรหรือก็ไม่ใช่ แต่จะให้เรายอมตามในสิ่งที่เราคิดว่ามันเสียหาย ก็ยอมไม่ได้ จริง ๆ เรื่อง 3G ก็หาจุดที่ win-win ได้ แต่เขาจะเอาเสียงข้างมากกัน ก็ทำให้เราต้องแสดงจุดยืนต้องค้าน จึงทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดในองค์กร เกิดความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในองค์กร แต่จะให้เราเป็นเอกภาพบนหลักการที่ไม่ชัดเจน เราก็ทำไม่ได้

อย่างเรื่องธรรมาภิบาลในองค์กร พูดไปก็ดูน่าหมั่นไส้ แต่เรารู้สึกว่าองค์กรนี้ไม่ค่อยระวังในการใช้เงิน และทำให้เรากลายเป็นเป้าถูกตรวจสอบไปด้วย ทั้ง ๆ ที่เราไม่ใช่คนที่จะใช้เงินเยอะ แต่ถูกถามไปด้วย มันน่ารำคาญใจ แทนที่จะได้ทำเรื่องเนื้อหาให้เต็มที่ กลับต้องมาตอบว่าใช้รถอะไร ไปต่างประเทศไหม ไปที่ไหนคนก็ถามซึ่งก็ไม่ได้อยากจะพูดให้มันไปกระทบคนอื่น แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่บั่นทอนความเชื่อมั่นขององค์กร และทำให้เราทำตัวไม่ถูก

- ทำให้ผลักดันงานคุ้มครองผู้บริโภคยากขึ้น
ถ้า เป็นงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านกระจายเสียง ความยากอยู่ที่หลาย ๆ ปัจจัยยังไม่พร้อมมากกว่า ทั้งระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ที่ กสท.จะต้องผลักดันออกไปเป็นเรื่อง ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับบรรยากาศการทำงาน อย่างเรื่องจอดำ แม้ช่วงแรกในบอร์ดจะมีความเห็นต่างกัน แต่บอร์ดก็พยายามหาทางออกได้ วันนี้ก็มีอีกหลายเรื่องที่จะต้องผลักดัน ยังมีกฎกติกาเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตและกำกับดูแลไม่ครบ ก็ต้องรอให้กฎกติกาออกมาให้ชัดเจนก่อน

คือเราก็รู้ดีว่าข้อเรียก ร้องของผู้บริโภคจะไม่ได้ตามที่เรียกร้องทุกอย่าง แต่หลายเรื่องก็มีหลักประกันที่ดีขึ้น แต่จุดที่จะชี้วัดผลงานได้จริง ๆ น่าจะเป็นปีหน้า หลังจากเริ่มมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการด้านกระจายเสียงแล้ว ทำให้ กสทช.มีอำนาจกำกับดูแลได้อย่างเต็มที่ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีใบอนุญาต แต่เมื่อกติกากำหนดออกมาแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าเราจะบังคับให้เป็นไปตามกติกาได้แค่ไหน

- 1 ปีที่ผ่านมาพอใจกับการทำงานแค่ไหน

ตอบ ยากเพราะเป็นช่วงตั้งไข่ แต่ก็พอใจที่อย่างน้อยหาทางออกให้กับสังคมได้ แม้จะไม่ 100% อย่างเรื่องปัญหาจอดำ ที่มีการออกประกาศ MUST CARRY ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ต่อไปกำลังจะประกาศกฎกติกาเรื่องกล่องรับสัญญาณ เรื่องวิทยุชุมชน จากที่ไม่เคยมีการแก้ปัญหาอะไรเลยปล่อยให้มีคลื่นกวนกัน จนถึงการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยตอนนี้กำลังจะเข้ามากำกับเรื่องกำลังส่งในการออกอากาศ แม้ว่าจะโดนต่อต้านก็คงต้องสู้กัน วันนี้อาจจะยังไม่เห็นผลว่าสุดท้ายกำลังส่งจะเหลือ 500 วัตต์ แต่มีความคืบหน้าว่า กสทช.ได้ผลักดันกติกาที่จะใช้กำกับดูแลออกมาได้แล้ว ส่วนใครจะฟ้องล้มไม่ล้มก็มาว่ากันอีกทีหนึ่ง

โดยภาพรวมการทำงานของ บอร์ด กสท. ก็ให้คะแนน 80% เพราะทำงานเร็ว พยายามจะผลักดันแผนในภาพรวมให้เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นงานใหม่ไม่เคยมีการวางรากฐานมาก่อน ถือเป็นคะแนนในการวางนโยบาย ยังไม่ได้เป็นคะแนนของการกำกับดูแลเพราะต้องรอดูปีหน้า

ที่ไม่พอใจ หรือทำให้อึดอัด น่าจะเป็นเรื่องที่ในบอร์ดยังมีการหยิบประเด็นผู้บริโภคมาพูดกันน้อยอยู่ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า กสทช.มองว่าการเปิดเสรี การทำให้เอกชนเติบโตเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ เราก็เห็นด้วยนะ ไม่ใช่เป็นกลุ่มต้านทุนนิยมอะไรแบบนั้น แต่ถ้าจะบาลานซ์ได้ในทุก ๆ มิติ ใส่เรื่องผู้บริโภคเข้าไปด้วยก็จะทำให้การเดินไปข้างหน้าของอุตสาหกรรมทำได้ ดีขึ้น

- เรื่องอะไรที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจมากพอ

เกณฑ์การ เอาเปรียบผู้บริโภคตามมาตรา 31 พ.ร.บ.กสทช. ที่เพิ่งร่างเสร็จ หลังจากที่เราพยายามพูดถึงมาหลายครั้ง จริง ๆ ก็ยังมีอีกหลายอย่าง แต่ถ้าพูดไปจะหาว่าใจร้อน คือบอร์ดกระจายเสียง อยากจะรอให้กติกาทุกอย่างเสร็จก่อนแล้วค่อยมาจัดการ แต่หลายเรื่องรอไม่ได้ แล้วประชาชนก็จะรู้สึกว่าทำไม กสทช.ไม่ทำอะไร

อย่างการกำกับดูแลฟรี ทีวีในปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนมาเยอะ ทั้งโฆษณาแฝง โฆษณาเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องมีประกาศย่อยมาลงไปในรายละเอียดก็ได้ เพราะมีกฎหมายหลักที่จะหยิบมาบังคับใช้ได้เลย ซึ่งในมุมของตัวเองคิดว่าน่าจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ โดยเชิญกระทรวงไอซีทีมาร่วมกันรณรงค์ ซึ่งเอกชนก็อาจจะปรับตัวบ้าง เพราะตอนนี้เอกชนเคยทำอย่างไรก็ยังทำแบบนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องระวังอะไร ที่ผ่านมาพยายามผลักดันเรื่องโฆษณาอาหารและยา ก็ยังแป้ก ๆ ไปต่อไม่ค่อยได้

- ปัญหากระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน

สิ่ง ที่เป็นปัญหาคือมันจุกจิก ประชาชนที่จะร้องเรียนยังต้องแสดงหลักฐานแสดงตัวตน ซึ่งก็เป็นเรื่องดีคือทำให้คนร้องเรียนรับผิดชอบ แต่ในบางกรณีคนร้องเรียนก็กลัวมีปัญหาตามมาทีหลัง หรือบางคนก็ไม่อยากจะมีภาระ ทำให้เรื่องร้องเรียนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และในการพิจารณาของบอร์ดจะมองว่าถ้าองค์ประกอบไม่ครบบอร์ดจะไม่พิจารณาเพราะ ขัดระเบียบ ถ้าคนร้องไม่แสดงตัวตน แสดงที่อยู่ ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่

ตอนนี้คนที่ร้องเรียนจึงเป็นคนที่ ต้องเสียสละจริง ๆ ก็เป็นปัญหาอีกว่ามีแต่คนหน้าตาเดิม ๆ มาร้องเรียน ก็ระแวงกันอีก แล้วพอคนร้องเรียนไม่เยอะ บอร์ดก็ไม่แอ็กชั่น ไม่มีแรงขับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นปัญหาไก่กับไข่ ว่าระหว่างบอร์ดควรแอ็กชั่นก่อนหรือควรมีคนร้องเรียนก่อน

- ผลงานที่ภูมิใจในปีนี้

เป็น เรื่องเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องเดียวที่ราบรื่น คือการผลักดัน ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานวิทยุโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุก เฉิน เป็นเรื่องที่บอร์ดยกให้เราทำเลย และเอกชนไม่ค้านมาก แม้จะมีบ่น ๆ บ้าง แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นนิมิตหมายอันดี ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำแผนก่อน เรียกว่าเกิดเรื่องแล้วค่อยไปลุยเอาข้างหน้า ประกาศนี้จึงจะมีผลดีในระยะยาว และขั้นต่อไปก็ต้องให้เอกชนทำแผนเสนอเข้ามาอีก แต่ก็ต้องดูว่าเอกชนจะทำตามแผนได้แค่ไหน

- ประเด็นสำคัญในปีหน้า


วิทยุ ชุมชนเป็นจุดสำคัญที่ กสทช.จะต้องกำกับดูแลให้เป็นไปตามประกาศที่ออกมา แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทำแบบนั้นก็เหมือนไปแหย่รังแตน ย่อมต้องโดนต่อยตลอดเวลา กสทช.จะประคับประคองได้แค่ไหน ปีหน้าต้องเห็นความเปลี่ยนแปลง ทีวีดิจิทัลก็จะเป็นเรื่องใหญ่แห่งปี เพราะจะมีการจัดสรรคลื่นเพื่อบริการสาธารณะอีก 20 ช่อง และมีการให้คลื่นกับภาคประชาชน ถือเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทย จะต้องไม่ให้ซ้ำรอยประมูล 3G จะออกแบบการประมูลอย่างไรให้รัฐ เอกชน ประชาชน win-win จุดยืนคือรัฐไม่เสียประโยชน์มาก ผู้บริโภคไม่ถูกเอาเปรียบมาก เรารับได้

สำหรับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในปีหน้า โดยส่วนตัวจะเน้นที่โฆษณาก่อน เพราะวิทยุทีวีจะโดนร้องเรียนมากเรื่องการเมือง โป๊เปลือย โหราศาสตร์ ซึ่งผิดชัดเจนและไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ได้หวังว่า กสทช.จะทำได้ทุกเรื่อง คือถ้ากำกับคอนเทนต์อื่น ๆ ไม่ได้ ขอให้กำกับโฆษณาให้ได้ก็ยังดี

ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ 30/10/55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน