วันที่ 26 ตุลาคม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้ร่วมการ ประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz เมื่อวันที่ 16ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมการประมูลบนพื้นฐานข้อเท็จ จริงให้เกิดความชัดเจน ก่อนพิจารณาการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่2.1GHz ให้แก่ผู้ชนะการประมูลเพื่อให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย
โดยผู้ได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนผู้ทำงานประกอบด้วย นายอภิชาต อาสภวิริยะและนายจิตรนรา นวรัตน์ ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด,รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา นักวิชาการ,นายมงคล แสงหิรัฐ ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีและดร.พัชรสุทธิ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่และเพื่อความโปร่งใสในการ พิจารณา คณะทำงานชุดนี้จะมีพนักงาน กสทช.เป็นคณะทำงานคนเดียว คือ นายชัยยุทธ มังศรีและมี น.ส.พรพักตร์ สถิตเวโรจน์ นายโสรัจจ์ ศรีพุธและน.ส.ณัฐสุดา อัคราวัฒนา เป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ มีกรอบเวลาทำงาน 15วัน ผลการพิจารณาจะนำเสนอคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่2.1GHz แก่ผู้ชนะการประมูลต่อไป
ด้าน นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เป็นตัวแทนบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค เดินทางมาสำนักงาน กสทช.เพื่อชำระแคชเชียร์เช็คค่าประมูลงวดแรก 5,872,500,000บาท โดยมี นางวิจิตรา พลับประสิทธิ์ ผอ.กลุ่มงานการคลัง เป็นตัวแทน กสทช.รับมอบ
ทั้งนี้ ดีแทค ถือเป็นผู้ประมูลรายสุดท้ายที่เข้าจ่ายเงินกับ กสทช.หลังจบการประมูล 3จี เมื่อวันที่ 16ตุลาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส เป็นผู้ประมูลรายแรกที่มาชำระค่าประมูล 3จี จำนวน 7,824,375,000บาท ตามด้วยบริษัทเรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู ซึ่งชำระจำนวน 5,872,500,000บาท เมื่อหลายวันที่ผ่านมา
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ศึกษา ตรวจสอบ เรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวถึงความคืบหน้าการทำหนังสือไปยังประธานถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอพิจารณาให้ส่งเรื่องต่อให้ศาลปกครองพิจารณาว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีอำนาจรับรองผลประมูลคลื่น 3จี หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา245 (2) หลังจากพบข้อมูลว่า กทค.ใช้อำนาจที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา47, มาตรา305 (1) ,พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553และประกาศ กสทช.ว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยจะส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 29ตุลาคมนี้
ทั้งนี้ โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า หากศาลปกครองรับเรื่องไว้พิจารณา แม้จะไม่สามารถล้มการประมูลได้ แต่อาจดำเนินการได้ 2รูปแบบ คือ ให้ผู้ที่ได้รับประมูลเสนอราคาประมูลมาใหม่ที่มีความเหมาะสม หรืออาจต้องวางหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ เพื่อให้มีผู้เข้ารับการประมูลมากกว่า 3 ราย คิดว่า 5ราย น่าจะมีความเหมาะสม
ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน เผยว่า ไม่ค่อยสบายใจที่มีข่าวว่า ปปช.จะเชิญตัวแทนจากทางฝ่ายอัยการมาร่วมเป็นอนุกรรมไต่สวนด้วย เพราะมีอัยการหลายคนไปนั่งเป็นอนุกรรมการหลายชุดใน กทค.อาจเกิดกรณีการมีส่วนได้เสีย จึงควรเชิญนักวิชาการ นักกฎหมายที่มีความอิสระและน่าเชื่อถือเข้ามาแทนจะดีกว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการโดย กทค.เพื่อตรวจสอบการประมูลครั้งนี้นั้น ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ กทค.ตั้งธงและรับรองการประมูลไปแล้วและข้อพิพาทเรื่องนี้เลยขั้นตอนการตรวจ สอบภายในกันเองไปไกลแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของ ปปช.,ผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลเท่านั้น
แนวหน้า27 ต.ค. 2555