ไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตั้งราคาเริ่มต้นด้วยมูลค่าคลื่นความถี่ ต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะอยู่ที่ 6,440 ล้านบาท
นี่คือจุดยืนของ"หมอลี่" น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดใจผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงจุดยืนอันแน่วแน่ หลังจากที่เป็นเสียงเดียวที่ไม่รับรองการประมูล 3 จี โดยย้ำว่าเห็นด้วยที่มีการประมูลคลื่นความถี่โดยเร็ว แต่ไม่เห็นชอบกับร่างประกาศฯ โดยยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช.แจงยิบเหตุผล พร้อมกับไขข้อข้องใจเพื่อให้สังคมรับรู้ว่าแรงต้านครั้งนี้มีสาเหตุจากอะไร และเพื่ออะไร
-เหตุผลหลักที่ทำให้มีเสียงต่าง
น.พ.ประวิทย์ อธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้มีความเห็นต่างในการประมูล 3 จี ครั้งนี้ ประเด็นหลักเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องการเสนอปรับสิทธิยื่นประมูลคลื่นความถี่ สูงสุดจากไม่เกิน 4 ชุดเหลือเพียง 3 ชุด ที่จะส่งผลโดยตรงเป็นการลดระดับการแข่งขันในการประมูล ทำให้ราคาชนะประมูลจะลดต่ำกว่ากรณีมีการแข่งขันในการประมูล จึงสมควรที่จะพิจารณาปรับราคาเริ่มต้นให้ใกล้เคียงกับราคาประเมินมูลค่า คลื่นความถี่จากการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ
และการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 4,500 ล้านบาท/1ชุดคลื่นเท่ากับ 13,500 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถี่สูงสุด3 ชุด มิใช่ข้อเสนอของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ทางคณะมิได้เสนอให้กำหนดราคาเริ่มต้นที่ 67%ของราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่แสดงตัวเลขค่าเฉลี่ยสัดส่วนราคาเริ่มต้นต่อราคาชนะประมูลจาก 13 ประเทศ และเสนอว่าสำหรับประเทศไทยสัดส่วนดังกล่าวต้องสูงพอสมควรและไม่ต่ำกว่า 67%
รวมถึงข้อมูลจาก 13 ประเทศที่คณะ ศึกษานั้น รวมถึงข้อมูลในยุคแรกของการประมูลของสหราชอาณาจักร และสาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามีการสู้ราคากันรุนแรง เนื่องจากในขณะนั้นการประเมินสภาพตลาดเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นบริการที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ราคาชนะประมูลสูงมากผิดปกติ หากตัดข้อมูลที่ผิดปกติดังกล่าวออกไป ค่าเฉลี่ยสัดส่วนดังกล่าวจะสูงขึ้นเป็นกว่า 78% ไม่ใช่ 67% อีกทั้งข้อมูลจากคณะ ก็ยืนยันว่ากรณีการกำหนดสัดส่วนราคาที่ 67% สัมพันธ์กับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล 6-7 ราย หากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย สัดส่วนที่สัมพันธ์กันคือ 82%
"วิธีการประมูลที่เกิดขึ้นเหมือนกรณีที่เราดูการประมูลไอโฟนทางอินเตอร์ เน็ต เริ่มที่ราคา 1 บาท เมื่อมีคนเข้ามาเป็นหมื่นเป็นแสนคนก็ต่อสู้กันไปเอง แต่ถ้าผมรู้ว่ามีไอโฟนอยู่ 3 เครื่อง มีคนเข้าประมูล 3 คน ผมจะไม่กล้าตั้งที่ 1 บาท เพราะผมจะขาดทุน ก็แปลว่าถ้าการแข่งขันน้อยผมจะต้องตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับราคาจริงขาดทุน นิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ดังนั้นเช่นเดียวกันตอนที่เราคาดว่าจะมีการแข่งขัน 4 ชุดคลื่นความถี่ ราคาตั้งต้นเท่าไหร่ก็ว่ากันไปไม่สำคัญ แต่ผมก็ยังเห็นด้วยว่ามันควรจะต้องตั้งให้ใกล้เคียงกับราคาจริง "
-สุดท้ายไม่ปรับราคาตั้งต้นให้สูง
สุดท้ายกลับมีการไปปรับชุดคลื่นความถี่จาก 4 ชุดหรือ 4 สลอต เหลือเพียง 3 สลอต ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าทำให้หารลงตัว ตรงนี้จะปรับก็ได้ แต่ก็ต้องปรับราคาตั้งต้นให้สูงขึ้นด้วย เพราะมันจะจบที่ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น แต่กลับไม่มีการปรับราคาตั้งต้นแถมยังไปอ้างผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯอีก ซึ่งตรงนี้ผมยืนยันได้ว่าคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ไม่เคยบอกให้ตั้งที่ 67% หรือ 70% และถ้าอ่านรายงานคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯยังมีการบอกด้วยซ้ำว่าประเทศที่มีคู่ แข่งเข้าแข่งขัน 6 รายถึงจะตั้งที่ 69% แต่ถ้ามี 3 รายตั้งที่ 82%ของราคาประเมินคลื่น แต่เรายังไม่ยอมขยับจาก70% เป็น 82% ทั้งที่สถิติทั่วโลกยืนยัน
ซึ่งเรื่องนี้ตามบันทึกของนายณกฤช เศวตนันทน์ ที่ปรึกษาประจำรองประธานกสทช.ก็บอกว่าผลการประมูลลักษณะนี้เข้าข่าย กฎหมาย"ฮั้ว"มีโอกาสที่กสทช.จะถูกดำเนินคดี โดยข้อเสนอที่น่าสนใจคือ ให้ยกเลิกการประมูลแล้วประมูลใหม่โดยเร็วอาจจะภายใน1เดือนก็ได้ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ยกเลิกการประมูล แต่ให้ประมูลใหม่ โดยกำหนดกติกาว่าราคาสุดท้ายจะต้องสูงกว่าราคาตั้งต้น เท่ากับว่าจะต้องมีการเคาะราคาให้สูงขึ้น แต่ที่ผ่านมาข้อเสนอใครก็ไม่ฟังก็ยังเดินหน้ากันต่อ
-ตำแหน่งคลื่นที่ดีควรอยู่ตรงไหน
ถ้ายึดตามหลักของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์(กสท.)ที่เคยนั่งเป็น ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณา3 จี ครั้งที่แล้ว และจบวิศวกรสื่อสารมาได้บอกชัดเจนว่า คลื่นจะดีต่างกันก็ต่อเมื่อมีความถี่ต่างกันมาก เช่น คลื่นความถี่ 2.1 เมกะเฮิรตซ์ กับคลื่น900 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่น2.1เมกะเฮิรตซ์ กับคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์ แต่ถ้าเป็นคลื่น 2.1 เมกะเฮิรตซ์เหมือนกันจะไม่มีนัยสำคัญ ฉะนั้นจะอยู่ตรงไหนก็ตามมีที่ดินก็ต้องล้อมรั้วหมด มันไม่มีนัยสำคัญอะไรทางธุรกิจเลย ต่อให้ดีแทคไปอยู่ตรงไหนก็ต้องลงทุนเรื่องคลื่นรบกวนเหมือนกัน เหมือนบ้านเราก็ต้องล้อมรั้ว
-สิ่งที่ต้องทำหลังได้รับใบอนุญาต 3 จี แล้ว
1.ต้องขยายโครงข่ายการคงสิทธิเลขหมาย(นัมเบอร์พอร์ต)เพื่อให้ผู้บริโภคมี ทางเลือกในการย้ายค่ายโดยเสรี 2.กสทช.จะต้องทำสัญญามาตรฐานระหว่างผู้ประกอบการ ผู้บริโภค เพราะตอนนี้ถ้าซื้อซิมพรีเพดจะไม่มีตัวสัญญา ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองจึงต้องพัฒนาแบบสัญญามาตรฐานออกมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการทำสัญญาออกมาทั้งระบบเติมเงินและระบบรายเดือนในระบบ 3 จี 3.กสทช.จะต้องกำหนดกติกาเรื่องมาตรฐานความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านมือถือ ที่เอกชนเรียกว่าFair Usage Policy ที่ให้บริการ 3 จี แค่1หรือ2กิกะไบต์แล้วก็ลดความเร็วลง และความเร็วที่ลดลงก็ยังต้องไม่ต่ำกว่า 300 กิโลบิต/วินาที(ตรงนี้ไม่แน่ใจน่าจะมากกว่า300กิโลบิต/วินาที) ไม่ใช่ลดลงเหลือ 64 กิโลบิต/วินาทีแบบในปัจจุบัน
4.กสทช.จำเป็นต้องให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันโดยเฉพาะในหมู่ เยาวชน เพราะ 3 จี ที่แพร่หลายนี้จะเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวได้ง่ายโดยผ่านเครือข่าย สังคมออนไลน์หรือเว็บไซต์ต่างๆ 5.โอเปอเรเตอร์ควรจะมีทางเลือกให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าสู่ 3 จี ได้อย่างทั่วถึงโดยกำหนดแพ็กเกจให้ถูกลง เช่นปัจจุบัน 3 จี มีค่าบริการ 890 บาท/เดือนก็ให้ลดลงมาที่ 190 บาท/เดือนหรือ 290 บาท/เดือนตามสปีดที่ผู้บริโภคพอใจ
-เป็นกสทช.เสียงข้างน้อยกดดันมั้ย
ไม่กดดันอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มเห็นแล้วคือ มีคนพยายามปล่อยข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือของผม ไปบอกว่าผมมีกลุ่มสีเสื้อ กำลังโยงผมเข้าสู่การเมืองทั้งที่ผมไม่เคยมีเบอร์โทรศัพท์ ไม่เคยติดต่อกับนักการเมืองเลย ผมก็งง เพราะปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองประเด็น 3 จีไม่ใช่เรื่องระหว่างกสทช.กับรัฐบาล เป็นเรื่องกสทช.กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และประเด็น 3 จี ไม่ใช่เรื่องล้มรัฐบาลด้วย
หรืออย่างตอนนี้มีกรรมการบางท่านไปเข้าใจผิดที่ภาคประชาชนบางกลุ่มใช้ เหตุผลของผมไปฟ้องคดี บอกว่าผมไปให้ข้อมูล ทั้งที่ความจริงเหตุผลของผมไปปรากฏอยู่ในอินเตอร์เน็ตของกสทช. ใครอ่านแล้วเห็นด้วยก็ไปดำเนินการเอง เป็นข้อมูลเปิด ตัวผมเองยังไม่เคยเจอกับคุณสุริยะใส กตะศิลา ซึ่งในอินเตอร์เน็ตของกสทช.ผมก็จะพูดถึงเรื่องการแข่งขันกันเรื่องราคา ว่าราคา 4,500 ล้านบาท/5 เมกะเฮิรตซ์มันต่ำไป และเป็นเหตุผลที่ ผมรับไม่ได้เพราะการประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันในการประมูลอย่างแท้จริง เกิดขึ้น และประโยชน์จากการประมูล 3 จี มันควรจะเกิดกับทั้งภาครัฐ ประชาชนและผู้ประกอบการ
"ไม่กดดันอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มเห็นแล้วคือ มีคนพยายามปล่อยข่าวเพื่อลดความน่าเชื่อถือของผม"
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32
ฉบับที่ 2,786 วันที่ 25-27 ตุลาคม พ.ศ. 2555