ปปช.โดดรับสอบฮั้ว"3จี" กสทช.พร้อม-ย้ำโปร่งใส

ป.ป.ช. รับคำร้องสอบ"3จี" กล้านรงค์เผยพิจารณาคำร้องแล้วอยู่ในอำนาจของป.ป.ช. ขณะที่กสทช.ก็ทำหนังสือชี้แจงมาแล้ว จึงมีมติตั้ง"ภักดี โพธิศิริ-ใจเด็ด"พรไชยา" นั่งประธานอนุกรรมการไต่สวน คาดสัปดาห์หน้าได้รายชื่อกรรมการทั้งหมด จากนั้นจะเร่งสอบโดยเร็ว ขณะที่กมธ.สอบทุจริตวุฒิฯ เรียก"กสทช.-รองปลัดคลัง"แจง "สุภา ปิยะจิตติ" ยันทำหนังสือทักท้วงไม่มีการเมืองแอบแฝง ด้านบอร์ดกทค.เสนอจัดตั้งคณะทำงานสอบฮั้วผู้ประมูล 3 ราย เร่งสรุปให้ได้ในวันที่ 26 ต.ค.

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายกล้าณรงค์ จันทิก กรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในฐานะโฆษกป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้มีผู้ร้องมาทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ นายสุธา ปิยะกิจ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) นายชูยศ โอจงเพียร และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา ได้ร้องเรียนเกี่ยวการประมูล คณะกรรมการปปช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าในคำร้องของทั้ง 5 รายได้ระบุข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน จึงได้พิจารณาคำร้องของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา เป็นคำร้องหลัก

นายกล้า ณรงค์กล่าวต่อว่า ในคำร้องได้ร้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) มา 2 ประเด็น เป็นเรื่องที่ได้พิจารณารับประมูล โดยมีความมุ่งหมายให้มีการแข่งขันการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ของ กทค. ประเด็นที่สอง ร้องมาในเรื่องของพฤติการณ์ของคณะกรรมการ กทค. ที่เร่งรีบลงมติเห็นชอบผลการประมูลดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเห็นว่าคำร้องทั้ง 5 คำร้องนั้นเป็นคำร้องที่กล่าวหาว่า ได้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา พ.ศ.2542 ซึ่งในมาตรา 14 ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวน

นายกล้าณรงค์กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง ตลอดจนรวบรวมเอกสารทั้งหมดส่งให้ป.ป.ช. จึงมีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมา โดยที่ประชุมมอบหมายให้นายภักดี โพธิศิริ และนายใจเด็ด พรไชยา 2 กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน และดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเข้าเป็นคณะอนุกรรมการฯ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าน่าจะสามารถเสนอชื่อคณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมดต่อป.ป.ช.ได้ ซึ่งหากแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเสร็จก็จะเร่งดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยเร็ว อย่างไรก็ดีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนนี้ไม่ได้หมายความว่ามีความผิด หากตรวจสอบแล้วไม่มีมูลก็ยกคำร้องไป

ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยมีน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานประธานฯ ได้พิจารณาตรวจสอบการดำเนินการประมูล 3จี ว่าเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล หรือเข้าข่ายการกระทำผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเสนอราคาหรือฮั้วประมูลหรือไม่ ตามที่มีการร้องเรียนมายังคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งทางกรรมาธิการฯได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง อาทิ พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และรองประธาน กสทช. นายประวิทย์ สี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคม นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการโทรคมนาคม น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นต้น

โดยพ.อ.เศรษฐพงศ์ ชี้แจงว่า กสทช.ได้ดำเนินการจัดการประมูลโดยเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของคณะ อนุกรรมรองรับการใช้งานคลื่น 3จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ ทั้งการกำหนดคลื่นความถี่และราคา ที่มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยยืนยันว่า การดำเนินงานเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคา ซึ่งมีความเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใด หรือบริษัทใดๆ

นายประวิทย์หนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการประมูลดังกล่าว กล่าวว่าการกำหนดราคาแม้ตั้งราคาต่ำสุด แต่ควรกำหนดราคาตั้งต้นที่สูงพอสมควร โดยค่าเฉลี่ยควรตั้งอยู่ที่ร้อยละ 82 จากต่ำสุดคือ ร้อยละ 67 และมีผู้ประกอบการอย่างน้อยหนึ่งรายที่มีพฤติกรรมไม่แข่งขัน โดยการรอช่องสัญญาณที่เหลือในระหว่างการประมูล

น.ส.สุภาชี้แจงถึงการทำหนังสือทักท้วงการประมูล ว่าเกิดจากการสังเกตพฤติกรรมการประมูล ที่เข้าข่ายสมยอมไม่มีการแข่งขัน รวมถึงการกำหนดราคาที่ไม่มีความสมเหตุสมผล จึงทำหนังสือทักท้วงว่าหน่วยงานต้นเรื่อง ควรจะทบทวนการประมูลหรือไม่ ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้วจำเป็นจะต้องมีการแข่งขัน แต่กลับจัดสรรคลื่นความถี่ตรงกับจำนวนของผู้ประกอบการที่ร่วมประมูลพอดี ทั้งหมดนี้จึงทำให้ ผู้ประมูลทั้ง เอไอเอส ทรู และดีแทค ได้ประโยชน์ ประหยัดค่าใช้จ่ายรวมกว่า 419,000 ล้านบาท และทำให้ทีโอที ขาดทุนทันที จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องลดราคาลง ทั้งนี้การทำหนังสือทักท้วงไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองแต่อย่างใด หากปล่อยเรื่องนี้ไปอาจมีปัญหาในภายภาคหน้า

ด้านนายสุทธิพล ชี้แจงว่า ตอนนี้กระแสข่าวหลายเรื่องเกี่ยวกับการประมูลคลาดเคลื่อน ยืนยันว่าการประมูลพิจารณาหลักการอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งการกำหนดราคาประมูลต้องพิจารณาเป็นสองเรื่อง คือราคาตั้งต้นและราคามูลค่า ที่ในหลายประเทศมีการกำหนดราคาตั้งต้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของราคามูลค่าเท่านั้น อีกทั้งตอนแรกการประมูลจะมีทั้งสิ้น 4 บริษัท แต่สุดท้ายเหลือ 3 บริษัท เพราะสู้ราคาไม่ไหว ส่วนกรณีที่รองปลัดกระทรวงการคลังส่งหนังสือให้ทบทวนการประมูลนั้น ยืนยันว่าการประมูลทำภายใต้กรอบของกฎหมายชัดเจน ไม่ได้ผิดพ.ร.บ.ฮั้วแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ กทค.สามารถกำหนดออกแบบเองได้ ไม่มีระบุไว้ว่าต้องเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงกระบวนการประมูล ข้อสรุปการออกใบอนุญาต กทค.มีอำนาจทางกฎหมายที่จะสรุปผลโดยไม่ต้องส่งผ่านให้ กสทช.พิจารณา ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายท่าน ม.27 (4) ของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้น ขอตั้งข้อสงสัยว่ามีกระบวนการพยายามล้มการประมูลหรือไม่

นายพัชรสุทธี สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการตลาดและการประมูลกล่าวว่า จากประสบการณ์ทราบมาว่าการประมูลคลื่นสัญญาณมี 2 แบบคือ การประมูลเพื่อเน้นประสิทธิภาพ และการประมูลเพื่อรายได้ของรัฐ ซึ่งการประมูลของไทยเป็นรูปแบบที่สากลใช้ตั้งแต่ปี 1994 ทั้งประเทศโปรตุเกส สิงคโปร์ ก็มีการประมูลคลื่นสัญญาณที่ใช้ราคาต่ำสุด เพื่อประสิทธิภาพให้มีการบริการสัญญาณอย่างทั่วถึง หากสร้างการแข่งขันปลอมเพื่อรายได้ของรัฐอาจเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 ต.ค. คณะกรรมการ กทค.ได้ประชุมเพื่อเสนอจัดตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการประมูลถึงพฤติกรรมสม รู้ร่วมคิด หรือฮั้วของผู้ประมูลทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ก ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด หรือดีแทค และบริษัทเรียล ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู

นาย ฐากรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ บอร์ด กทค.มีมติให้สำนักงาน กสทช.ไปแต่งตั้งคณะทำงานมาประมาณ 6-7 คน และมีคนในสำนักงาน กสทช.ให้น้อยที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งในขณะนี้มีเพียงนายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ตอบตกลงจะเข้ามาเป็นประธานคณะทำงานแล้ว และกำลังทาบทามตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนอาจารย์ รวมทั้งกำลังพิจารณาให้นายพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบตลาดและการประมูล 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ครั้งนี้และคนในสำนักงาน กสทช. 1 คน คือ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกสทช. มาเป็นคณะทำงานด้วย โดยจะเร่งสรุปคณะทำงานให้เร็วที่สุดภายในวันที่ 26 ต.ค.นี้ เพราะหากยังล่าช้าต่อไปก็จะยิ่งทำให้ขั้นตอนการออกใบอนุญาตล่าช้าไปด้วย ส่วนที่ป.ป.ช.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีการจัดประมูลใบอนุญาต 3 จีถือว่าเป็นกระบวนการทำงานปกติ ซึ่งทาง กสทช.ก็พร้อมจะชี้แจงและพร้อมจะให้ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในทุกฝ่าย

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ทำหนังสือถึง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เรื่องขอให้นัดประชุม กสทช.วาระเร่งด่วนเรื่องการรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ โดยน.ส.สุภิญญากล่าวว่า หลังจากผลการประมูลคลื่นความถี่ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่ายถึงผลการประมูลว่า ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบทางอาญาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542

ด้านพล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า การที่บอร์ดกระจายเสียงขอข้อมูลมาก็พร้อมส่งให้ เพราะมีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ขอให้เรียกประชุมบอร์ด กสทช. 11 คนนั้น ขอเวลาพิจารณาถึงความจำเป็นว่ามีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากแต่ละคนก็มีภารกิจ พร้อมยืนยันการทำงานของ กทค.ดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจ

ข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด 26 ต.ค. 55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน