ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานจากศาลปกครอง วันนี้ (11ต.ค.) เกี่ยวกับผลการไต่สวนฉุกเฉินของศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวการประมูลใบอนุญาติบริการ 3G คลื่น 2.1GHz หลังจากนายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระได้ยื่นฟ้องว่า ศาลได้ตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ รับคำฟ้องหรือไม่ และจะมีการคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ โดยเร็วที่สุด
โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. ด้านกฎหมาย กล่าวว่า วันนี้ศาลได้ข้อมูล พยาน หลักฐาน เพียงพอสำหรับการวินิจฉัยแล้วและจะนำไปพิจารณากับองค์คณะผู้พิพากษาต่อไปว่าจะรับฟ้องหรือไม่ และจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ โดยศาลไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แต่บอกว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะส่งคำสั่งศาลให้คู่ความทั้งสองฝ่าย ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า ศาลทราบกรอบระยะเวลาว่า จะจัดประมูลในวันที่ 16 ตุลาคม 2555 นี้เป็นอย่างดี
"ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางกสทช. จะเดินหน้าจัดการประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ทซ์ตามปกติ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย"
นอกจากนี้ นายสุทธิพลยังให้ข้อมูลว่า แม้ศาลรับฟ้องก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการจัดการประมูลที่กสทช. จัดทำมาก่อนหน้านี้จะเสียไป เพราะหากรับฟ้องแต่ไม่ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางกสทช. ก็สามารถดำเนินการประมูลต่อได้และไม่จำเป็นต้องเลื่อนการประมูล
อย่างไรก็ตามหากคำตัดสินเป็นคุณกับผู้ฟ้อง ทางกสทช.ก็จะต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อไป
"เรากราบเรียนศาลไปว่าผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เพราะไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมการประมูลอีกทั้งหากเกิดการประมูลใบอนุญาต 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ทซ์ เขาจะกลายเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ การฟ้องของเขาจึงเป็นการฟ้องเพราะใช้ดุลพินิจ ส่วนเรื่องการให้กำหนดราคาขั้นสูงกฎหมายก็กำหนดว่าอัตราค่าบริการจะต้องเป็น ธรรมระหว่างผู้ใช้บริการและผู้บริโภคซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ บริการจึงยังไม่สามารถกำหนดราคาขั้นสูงได้ หากดำเนินการก่อนจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย" นายสุทธิพลกล่าว
นายสุทธิพลกล่าวถึงมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากไม่สามารถจัดงานประมูลให้บริการ3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ทซ์ ในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กทช. ไม่สามารถจัดการประมูลให้บริการ 3G 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ทซ์ได้เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ผลวิจัยจากสถาบันทั้งในและนอกประเทศระบุว่า ประเทศเราเสียหายไปแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท หากการประมูลครั้งนี้เลื่อนออกไปอีกคงต้องดูว่า กระบวนการศาลใช้เวลานานเท่าไหร่ ถ้าศาลใช้เวลาพิจารณาคดีเป็นเวลา 1 ปี ก็คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 76,950 ล้านบาท หลังจากมีคำสั่งศาลทางกสทช. จะต้องปรับปรุงประกาศ รับฟังความเห็นสาธารณะ และส่งราชกิจจานุเบกษารวมประมาณ 3 เดือน ใช้เวลาดำเนินตามขั้นตอนอีก 5 เดือน รวมทั้งหมด 8 เดือน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 51,300 ล้านบาท
ด้านนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวถึงผลการไต่สวนฉุกเฉินของศาลปกครองในวันนี้ว่า สรุปว่าศาลได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนและจะประชุมพิจารณาเป็นคณะกันอีกครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ส่วนตัวมีความเห็นว่า กสทช. บอกแค่ว่าการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ทซ์ดีกว่าแต่ไม่ค่อยอธิบายให้ประชาชนทราบ บอกแต่วิธีประมูล หากกสทช. ต้องเลื่อนการประมูลไปสัก 1-2 เดือน แต่ทำให้คนไทยได้ประโยชน์มากกว่านี้จะคุ้มค่ามากกว่าหรือเปล่า
ส่วนเรื่องการแก้ไขรายละเอียดการประมูล ในภาคผนวกของกฎเกณฑ์การประมูลก็เขียนว่ากสทช. สามารถแก้ไขได้ และน่าจะทำได้ง่ายดาย แล้วเสร็จก่อนวันที่ 16 ตุลาคมนี้แน่นอน ส่วนตัวไม่เข้าใจว่า ทำไมกสทช. ไม่เขียนเป็นหลักประกันให้ประชาชนไปเลย นอกจากนี้การออกกฎเกณฑ์