อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. แนะเพิ่มค่าปรับบริษัทมือถือตัดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน ชวนผู้บริโภคฟ้องเรียกร้องสิทธิ์

วันนี้ (13 ก.ย. 55) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม และคณะอนุกรรมการฯได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยระบุว่า สืบเนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า ,แบบเติมเงิน ,แบบพรีเพด ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ ๑๑ ของประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ 

มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนในที่สุดเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้มีคำสั่งปรับทางปกครองผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าทุกรายในอัตราวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จนกว่าบริษัทฯจะปฏิบัติตามคำสั่ง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ

 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนภายหลังจากคำสั่งปรับทางปกครองจนถึงปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า ๓ เดือนแล้วนั้น พบว่า ยังคงมีผู้บริโภคที่ถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ถูกยึดเงิน  ยึดหมายเลขโทรศัพท์ เป็นจำนวน  ๑๓๖  ราย โดยเป็นบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำนวน  ๖๖  ราย บมจ. โทเทิ่ล แอดเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด จำนวน  ๒๔   ราย บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวเลส จำกัด จำนวน  ๑๖  ราย บมจ.ทรูมูฟ จำนวน ๒๔ ราย บริษัท ทรูมูฟ เอช จำนวน ๕ ราย  บริษัท ไอโมบายพลัส จำนวน ๑ ราย

นอกจากนี้จากผลการศึกษา ในปี 2555 ของสำนักงาน กสทช. พบว่า ค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินของผู้บริโภคนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ ๑๖๐ บาทต่อเดือน ขณะที่เฉลี่ยแล้วบริษัทได้กำหนดระยะเวลาการใช้บริการให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินเข้าระบบนั้นอยู่ที่ ๓๐๐ บาทต่อเดือน เท่ากับมีมูลค่าของเงินที่เกินกว่าการใช้บริการจริงที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคือ ๑๔๐ ต่อเดือนต่อคน โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินจำนวนทั้งสิ้น ๗๐ ล้านเลขหมาย หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นราวประมาณ ๙,๘๐๐ ล้านบาทต่อเดือน

จากสถานการณ์ดังกล่าว คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมจึงมีความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าดังนี้

  1. เห็นควรให้มีการเพิ่มค่าปรับทางปกครองกับบริษัทผู้ให้บริการทุกราย ให้สอดคล้องกับความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ เนื่องจากยังมีการทำความผิดต่อเนื่องอีกทั้งมูลค่าการปรับทางปกครองเพียงวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เท่ากับ บริษัทที่ฝ่าฝืนคำสั่งทางปกครองนั้นต้องชำระค่าปรับเพียงเฉลี่ยบริษัทละ ๓ ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น ขณะที่มูลค่าความเสียหายของผู้บริโภคอยู่ที่ ๙,๘๐๐ ล้านบาทต่อเดือนจึงควรพิจารณาเพิ่มค่าปรับทางปกครองให้สอดคล้องกับความเสียหายดังกล่าว
  2. สนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้สิทธิร้องเรียนที่ ๑๒๐๐ หากถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ทั้งนี้ผู้บริโภคมีสิทธิในการร้องขอการเยียวยาชั่วคราวในระหว่างที่เรื่องร้องเรียนยังไม่ยุติ ด้วยการขอให้ขยายระยะเวลาการใช้บริการให้กับผู้ร้อง
  3. ขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าทั้งหมด ปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากแม้ว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์แต่เป็นประเด็นที่มีความชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
  4. บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าทั้งหมดดำเนินการเยียวยาอัตโนมัติด้วยการขยายวันให้กับผู้ใช้บริการเป็นการเร่งด่วน
  5. ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยใช้ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน