บริษัทมือถือแจง กสทช.กรณีใบรับรองมือถือ

เปิดใจจำเลย "ทีดับบลิว แซท -เจมาร์ท & อาม่า" กรณีที่ กสทช.เพิกถอนอุปกรณ์และใบรับรองมือถือ เผยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้วหากใบรับรองปลอมก็ควรระงับตั้งแต่ต้น ชี้มือถือรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายจัดสรรไปหมดตั้งแต่ปี 54 แจงไม่มีผลกระทบต่อยอดขายแต่อย่างใด ขณะที่ "พุทธชาติ" ยอมลงทุนนับแสนให้ห้องแล็บใหม่ทำการตรวจสอบสินค้าจำนวน 28 รุ่น นายพุทธชาติ รังคสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ "TWZ"   เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ในฐานะที่เป็น 1 ในจำนวน 23 บริษัท ที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ  กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ดำเนินการเพิกถอนอุปกรณ์และใบรับรองโทรคมนาคม ว่า ใบอนุญาตที่ถูกดำเนินการเพิกถอนนั้นเป็นใบอนุญาตที่ได้ดำเนินการและยื่นขอ เอกสารไปยัง กทช.(ชื่อเดิมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาหรือราวประมาณปี 2553-2554 ซึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนสุดท้ายได้จำหน่ายหมดไปแล้วตั้งแต่ปี 2554

อย่างไรก็ตามโทรศัพท์รุ่นที่ดำเนินการทดสอบไปแล้วนั้นมีด้วยกันจำนวน 28 รุ่น ซึ่งเป็นสินค้ารุ่นที่บริษัทได้นำเข้าและจัดจำหน่ายไปหมดแล้ว จึงไม่มีสินค้าคงคลังรุ่นดังกล่าวเหลืออยู่ในคลังสินค้าแต่อย่างใด

ปัจจุบัน บริษัท มีสินค้าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นอื่นๆ วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และสินค้าทุกรุ่นได้รับใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย แล้ว ดังนั้น

เครื่องโทรศัพท์รุ่นดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยรวม และการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด
"ระยะเวลาผ่านมา 2 ปี จาก กทช.มาเป็น กสทช. กลับมาบอกว่าเอกสารใบรับรองปลอม ทั้งๆที่เราได้นำเครื่องไปทดสอบอย่างถูกต้อง และ ได้รับใบอนุมัติการนำเข้าอุปกรณ์ก็ถูกต้องแต่พอปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ไปกลับตรวจสอบว่าเราไม่ถูกต้องเราก็ทำถูกขั้นตอนทุกอย่างเหมือนกับดิสเครดิต ผู้ประกอบการ".

นายพุทธชาติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารจาก กสทช.อย่างเป็นทางการหากผู้บริหาร กสทช. เชื่อว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายไม่มีความปลอดภัยจะ ให้บริษัททำการทดสอบใหม่อีกครั้งหรือทาง กสทช.จะดำเนินการทดสอบด้วยตัวเองก็ได้แต่ปัญหาในขณะนี้ คือ กสทช.ไม่มีอุปกรณ์ในการทดสอบเครื่องโทรศัพท์แต่อย่างใด

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นบริษัทได้ส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 28 รุ่นไปดำเนินการทดสอบที่สำนักงานแห่งใหม่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนจีน และ เชื่อว่าผลทดสอบจะทยอยส่งกลับมายังบริษัทและจะส่งมอบต่อไปยัง กสทช.อีกครั้งหนึ่งตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนดให้อุทธรณ์ภายใน 15 วัน และ ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องนี้ไปแล้ว

"ที่ผ่านมาการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบชุด gift set ทั้งหมดซึ่งเป็นชุดยี่ห้อ MTK มาจากประเทศไต้หวัน ซึ่งการตรวจสอบนั้นก็เป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องความถี่และที่ผ่านมานั้น เราขายมือถือไป 1 ล้านเครื่องไม่เคยมีปัญหาร้องเรียนจากผู้ใช้บริการแต่อย่างใดและการตรวจสอบ แต่ละครั้งต้องใช้ค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 50,000-100,000 บาทในการทดสอบ"

ขณะที่นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทไม่มีผลกระทบในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะสินค้าทั้งหมดได้จำหน่ายไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาสินค้ามีทั้งหมดจำนวน 8 รุ่นและได้จำหน่ายไปหมดแล้ว

"ผมไม่เข้าใจเพราะเราก็ได้ทำรายงานทำเอกสารให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดแล้วแต่อยู่ ๆ วันดีคืนดีทาง กสทช.กลับมาบอกว่าเอกสารไม่ถูกต้องทำไมช่วงเวลานั้นถึงไม่บอกแต่พออนุมัติมา ให้เราดำเนินการกลับมาบอกว่าเอกสารไม่ถูกต้องทำไมถึงไม่บอกตั้งแต่วันแรก"

ขณะนี้บริษัทได้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่และได้รับการอนุมัติ อย่างถูกต้อง ซึ่งประกาศของ กสทช.ในขณะนี้เป็นเรื่องในอดีตและไม่มีผลกระทบกับทางบริษัทแต่อย่างใด และ ได้มีการชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปแล้ว และ มีผลกระทบไม่ถึง 1%
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 ราคาหุ้นของ เจมาร์ท เปิดตลาดที่ในราคา 11.10 บาท และ ราคาปิดอยู่ที่ 11.00 บาท ขณะที่ราคาหุ้นของ ทีดับบลิวแซท ราคาเปิดอยู่ที่ 0.32 บาท และ ปิดที่ราคา 0.32 บาท

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายสุรินทร์ อมรชัชวาลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟินิตี้ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อแบรนด์ "อินฟินิตี้" และ "อาม่า" กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ  ในส่วนของตัวเครื่องนั้นไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของเอกสารใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัย โดยในรุ่นที่เป็นปัญหา 13 รุ่นนั้นบริษัทก็ได้รับเอกสารรับรองความปลอดภัยจากโรงงานผลิต ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเอกสารดังกล่าวมีปัญหา หรือ เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ โดยที่ผ่านมาก็ส่งเอกสารดังกล่าวให้กับ กสทช.ดำเนินการตรวจสอบและได้รับใบอนุญาตในการนำเครื่องเข้ามาจำหน่าย
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ยื่นขอและได้รับใบรับรองเครื่องโทรคมนาคมและ อุปกรณ์และได้ถูกเพิกถอนจาก กสทช.มีจำนวนทั้งสิ้น 23 ราย ซึ่ง เจมาร์ท ,ทีดับบลิวแซท และ อินฟินิตี้ มีรายชื่ออยู่ในนั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,755   8-11  กรกฎาคม  พ.ศ. 2555

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน