ปลัดไอซีทีถกบอร์ด กสทฯ เคลียร์ปมปัญหาเซ็นสัญญา 3 จีทรู ทำรัฐสูญเสีย 2 แสนล้าน
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่ากระทรวงไอซีทีไม่ได้เพิกเฉยต่อการตรวจสอบสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม และ กลุ่ม ทรู คอรืปอเรชั่น เพื่อให้บริการ 3 จีเอชเอสพีเอ โดยเฉพาะในประเด็นที่ กสทฯเสียเปรียบกลุ่มทรูถึง 2 แสนล้านบาทจากการทำสัญญา 14.5 ปี
ทั้งนี้ เนื่องจากตามสัญญา กสทฯ จะต้องจ่ายค่าโครงข่ายให้ทรูและมีความเสียเปรียบมาก และในส่วนของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ไม่ได้ตอบรับในส่วนของแผนลงทุน ระยะเวลา 5 ปี จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์แอ็คเซ็ส ระบบสื่อสัญญาณ (ทรานสมิชชัน) และโครงข่ายหลักของ กสทฯ รวมทั้งการเข้าไปตรวจสอรายละเอียดของสัญญา ว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือพ.ร.บ.ร่วมทุน หรือไม่
“สัญญาดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงาน จึงต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก ซึ่งต้องเชิญบอร์ด กสทฯ มาคุยและชี้แจง และนำผลสรุปมาพิจารณาว่าขัดต่อกฤษฏีกาหรือไม่ หากทุกอย่างยังไม่ชัดเจนจะต้องให้บอร์ดกสทฯ ทบทวนสัญญาอีกครั้ง” นางจีรารวรรณ กล่าว
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า จะหารือในเรื่องนี้กับทางปลัดไอซีทระหว่างเดินทางร่วมงาน คอมมูนิคเอเชีย 2011 ประเทศสิงคโปร์ จัดขึ้นวันที่ 21-24 มิ.ย. เชื่อว่าจะสามารถตอบข้อสงสัยของไอซีทีที่มีอยู่ทั้งหมดได้
ในส่วนของโครงการติดตั้งอุปกรณ์ 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ทางสภาพัฒน์ต้องการความเห็นจากนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที แต่เนื่องจากการเมืองกำลังเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง อาจส่งผลกระทบให้โครงการนี้ล่าช้า ซึ่งทางกสทฯ ได้เตรียมแผนรองรับในการเช่าใช้โครงข่ายจากเอกชนไว้แล้ว
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ 3จีของกสทฯ และทรู กภายในไตรมาส 3 หรือเดือน ส.ค.นี้ จะสามารถเปิดให้บริการได้ 10จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช และจะเปิดให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าลูกค้า 1 ล้านราย และ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2558
อย่างไรก็ตาม การทำเข้าอุปกรณ์ของกสทฯ และทรูที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหานั้จะคลี่คลายไปในทางดีแล้ว หลังจากที่ประชุมบอร์ด กสทฯ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา กสทฯ มีมติให้สละประเด็นฟ้องในประเด็นที่กสทฯ เคยฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช.ว่าไม่มีอำนาจทางกฎหมายเกี่ยวกับ 3 จี แต่เนื่องจากมีกฎหมาย พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ที่รับรองให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่รักษาการกสทช.แทนได้ ก็มีสิทธิ์อนุมัติการนำเข้าอุปกรณ์ได้เช่นกัน