กรณ์ ลั่น แก้สัญญามือถือ 15 ปี เป็นการช่วยชาติ หลังไลเซนส์ 3จี ทำรัฐเสียประโยชน์อื้อ ย้ำไม่แทรกแซง กทช.แต่เป็นนโยบายของรัฐบาล
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุม ครม.เศรษฐกิจ วันที่ 19 ก.ค.นี้ จะประชุมวาระพิเศษ เรื่องแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ โดยวาระดังกล่าวเป็นเรื่องการพัฒนาโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี และการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบซึ่ง สะสมมานาน ให้เกิดการแข่งขันเป็นธรรม และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
กระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการยกเลิกสัญญาร่วมการงาน ระหว่างผู้ประกอบการเอกชนในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย และเปลี่ยนมาเป็นการออกใบอนุญาตหรือไลเซนส์ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2จี ในระยะเวลา 15 ปี เสียค่าธรรมเนียมอัตรา 12.5% ของรายได้ และให้เอกชนไปเช่าใช้โครงข่ายเดิม จากบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม
“ที่เราต้องให้ยกเลิกสัมปทานเดิม แล้วมาออกเป็นไลเซนส์ใหม่ ก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับเอกชนทุกราย ซึ่งเอกชนแต่ละรายจะต้องเสียค่าแรกเข้าที่แตกต่างกันไป เนื่องจากอายุสัมปทานของเอกชนแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องมีค่าแรกเข้าที่ต่างกัน เพื่อความเท่าเทียมกัน” นายกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกระทรวงการคลังกับกระทรวงเทคโนโลยีและการ สื่อสารหรือไอซีที มีความเห็นร่วมกันว่าหากปล่อยให้มีการประมูล 3จี จะทำให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพราะเทคโนโลยี 3จี ยังเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเกินกว่าที่จะลงทุนให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนเกินความจำเป็น ขณะที่คลื่นความถี่ 2จี ยังคงสามารถใช้งานได้ แต่กลับต้องเลิกใช้ตามสัมปทานที่จะหมดอายุลง
นอกจากนี้ จะเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจ พิจารณาเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลไลเซนส์ 3จี ใหม่ ทั้งนี้เพราะหากเอกชนทั้ง 3 รายหันมาใช้ไลเซนส์ใหม่ ก็ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนทั้ง 3 รายเข้าร่วมประมูลโครงการ 3จี ได้ด้วย รวมถึงปรับเงื่อนอื่น รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3 จี ใหม่ ปรับเปลี่ยนรายละเอียดการกำหนดพื้นที่การให้บริการใหม่ ฯลฯ
นายกรณ์ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดเพื่อต้องการให้ กทช. และเอกชนได้รับรู้ถึงนโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ว่ามีแนวคิดอย่างไรกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งไม่ถือเป็นการแทรกแซงอำนาจของ กทช. แต่อย่างใด
“เรื่องนี้ผมได้คุยกับ กทช.แล้ว และ กทช.ก็เห็นด้วย ซึ่งเมื่อ ครม.มีมติ ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของ กทช.ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ถ้าเห็นด้วย ก็ต้องไปกำหนดกรอบการทำงานทั้งในเรื่องของการยกเลิกใบอนุญาต 2 จี การออกไลเซนส์ 2 จีใหม่ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประมูล 3 จี ให้สอดคล้องกับการดำเนินการใหม่ ” นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จะเสนอ ครม.เศรษฐกิจเพื่อขออนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่าง กระทรวงการคลัง ไอซืที สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐ วิสาหกิจ หรือ สคร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำรายละเอียดหารือร่วมกับ กทช.และเอกชน มาเสนอ ครม.ใน 100 วัน
ทั้งนี้ หาก กทช. และเอกชน ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงการคลัง เสนอนั้นก็ต้องมีคำตอบกับสังคมด้วยว่าทำไม ถึงไม่รักษาประโยชน์ของประเทศ
นสพ.โพสต์ทูเดอย์ 19 กรกฎาคม 2553