(12พ. ย.) เวทีจัดการประชุมความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างข้อสรุปสารสนเทศ (ไอเอ็ม) การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จี ครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
เพื่อหาแนวทางจัดทำ เงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อสังเกตของ ครม. เศรษฐกิจ คือ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการ ที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม รวมถึงความเหมาะสมการเปรียบเทียบมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ กับรายได้จากสัญญาสัมปทาน
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการ กทช. กล่าวว่า วานนี้ (12 พ.ย.) กทช. ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับข้อกฎหมาย 2 ประเด็น คือ อำนาจหน้าที่ กทช. ชุดปัจจุบัน และ พ.ร.บ. ร่วมทุน พ.ศ. 2535 ก่อนประมูลใบอนุญาต และจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี
ระหว่างนี้ กทช. คงต้องเตรียมการต่างๆ ต่อไป ยังไม่สามารถระบุชัดเจนว่าได้รับผลสรุปก่อนการสรรหา กทช. ส่วนที่จะมาแทนที่บางตำแหน่งในชุดปัจจุบันของ ส.ว. วันที่ 23 พ.ย. หรือไม่
นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า บริษัทต้องการเห็นการแข่งขันในธุรกิจ 3 จี และ พร้อมรับการแข่งขัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนที่รอบริการนี้มานาน บริษัทเองก็หาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ยุคตลาดมือถือ 2 จีเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ดีแทค พร้อมสนับสนุนการแข่งขันบนพื้นฐานเท่าเทียมและเสรี ภายใต้ข้อกฎหมายไทย
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า กทช. ควรสร้างความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี หรือ ชะลอนานออกไปอีกกี่ปี ซึ่งเอกชนสามารถทำแผนธุรกิจได้ชัดเจน ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมของไทยไม่ได้เป็นตลาดที่น่าสนใจของต่างชาติอีกแล้ว โดยนักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าเป็นตลาดเล็กๆ
ทั้งนี้ หากเปิดประมูล 3 จี แม้ ช่วง 3-4 ปีแรก จะไม่สามารถเห็นการเติบโตของตลาดได้เท่ากับมือถือ 2 จีในปัจจุบัน แต่ระยะยาวจะเกิดความต่อเนื่องอื่นๆ ได้แก่ การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือขยายตัว มีคอนเทนท์ และบริการใหม่ๆ ซึ่งจากพฤติกรรมตลาดในประเทศไทย แม้การใช้งานดาต้ายังมีไม่ถึง 30% แต่ดีแทคจะกระตุ้นตลาดผ่านการนำอุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่รองรับบริการดาต้าเข้ามานำเสนอลูกค้าในราคาถูก
ส่วนประเด็นหลายๆ ข้อที่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการประมูลใบอนุญาต 3 จีนั้น หลายๆ เรื่องไม่ได้เป็นหน้าที่ของ กทช. แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ดังนั้น หากนำมาพันกันหมด กทช. ก็ไม่มีอำนาจ ขณะที่หากเงื่อนไขการประมูลเข้มมากเกินไป ก็จะไม่มีใครต้องการประมูล เพราะแม้แต่ดีแทคเอง หากราคาประมูลสูงเกินไปเป็นหลักแสนล้านบาท ก็คงไม่สนใจเช่นกัน แต่หากกำหนดราคาไว้ต่ำเกินไป เอกชนก็จะไม่มั่นใจว่า กทช. จะมาจัดเก็บค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ตามมาภายหลังหรือไม่ เพราะอำนาจ กทช. เปิดกว้างในส่วนนี้อยู่แล้ว ซึ่งอาจสร้างภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นภายหลังให้ผู้ประมูล
แนะแปรสัมปทานควบคู่ออกไลเซ่น 3 จี
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริการ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภาครัฐสามารถสร้างให้เกิดการเดินหน้าแปรสัมปทานไปพร้อมๆ กับการประมูลใบอนุญาต 3 จีได้ เพราะจะสร้างให้เกิดบริการที่ทั่วถึงสำหรับประชาชนได้โดยเร็ว ให้ได้ใช้บริการในราคาไม่แพง
ทั้งนี้ การแปรสัมปทานนั้น ตามสัญญาระบุให้สามารถดำเนินการได้ทันทีหากคู่สัญญา 2 ฝ่ายตกลงกันได้ โดยไม่ต้องขึ้นกับ ครม. หรือรัฐบาล ซึ่งหากหน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญาตกลง กทช. ก็จะต้องให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกับเอกชนรายนั้นๆ โดยอัตโนมัติ เพื่อที่เอกชนจะได้มาเช่าเครือข่ายให้บริการลูกค้าได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การประมูลและจัดสรรคลื่น 3 จี เพื่อ สร้างความเท่าเทียมทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการทุกราย ควรจัดสรรให้ในช่วงแถบความถี่จำนวนเท่ากัน อาทิเช่น จำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์ทั้ง 4 ใบอนุญาต
ด้านนายธนา กล่าวว่า เห็นด้วยว่าการแปรสัมปทาน และออกใบอนุญาต 3 จี ควรดำเนินคู่ขนานกันไป และถ้าเกิดได้ก็ดี แม้จะรอมาตั้งแต่ก็มีการพูดเรื่องแปรสัมปทานครั้งแรกๆ เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาแล้ว
องค์กรผู้บริโภคค้าน3จี
วันเดียวกัน ที่เวทีประชาพิจารณ์ มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งมาประท้วง พร้อมแจกเอกสารขึ้นหัวว่า "องค์กรผู้บริโภค ต้านฮั้ว ประมูล 3 จี ไม่โปร่งใส..." โดยนายพนัชทร สุนทราภิมุข ผู้แทนองค์กรผู้บริโภค เนื้อหาอ้างถึงสิ่งที่ กทช.กำลังดำเนินการประมูลคลื่น 3 จี ว่า อาจก่อให้เกิดการฮั้ว เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพลาดต่อการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ที่ระบุว่า การทุจริตในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขัน การเสนอราคาอย่างเป็นธรรมนั้น มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท
คมชัดลึก : 13/11/52