การแปรรูป บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นตำนานของการฉ้อฉลเชิงนโยบายในวงการเมืองไทยยุคใหม่เพราะมีมูลค่าผล ประโยชน์เกี่ยวข้องหลักหมื่นล้านบาท ผลจากการแปรรูปกระจายหุ้นให้เอกชนถือครองในครั้งนั้น มีการทุจริต ไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาลขนาดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยอมรับว่าผิดปกติจริง
นี่คือจุดแรกเริ่มของการเปิดยุคใหม่ให้กับองค์กรพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยนามว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่เป็นองค์กรของรัฐกลายมาเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่สวม หน้ากากรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรหลักแสนล้านบาทต่อปี แต่ไม่สามารถเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้ได้ว่าเอกชนผู้รับปันผลประโยชน์ตัวจริง คือใคร กลุ่มใดบ้าง เพราะเทคนิคการถือครองผ่านตัวแทนและบริษัทเอกชนหลายชั้น
ปตท.กระจายหุ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 รวม 800 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 35 บาท (ปัจจุบันประมาณ 260 บาท) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น
กลุ่มแรก - หุ้นผู้มีอุปการคุณ 25 ล้านหุ้น ซึ่งกรรมการ ปตท.สามารถตัดสินใจที่จะให้ใครก็ได้ในนามของผู้มีอุปการะคุณคำถามตัวโตๆ ก็คือ หุ้น ปตท.ตีค่าเป็นทรัพย์สินของส่วนรวมไม่ใช่หุ้นบริษัทเอกชนที่เจ้าของนึกพิศวาส ใครก็ยกให้ได้ในราคาถูก ถ้า ปตท.ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจะไม่มีคำครหาใดๆ สำหรับประเด็นนี้ มูลค่าส่วนต่างของผู้ที่ได้หุ้นกลุ่มนี้ ถ้าคิดจาก 260-35= 225 บาท/หุ้น จะเป็นเม็ดเงินถึง 5,625 ล้านบาทซึ่งบรรดาผู้มีอุปการะคุณใครก็ไม่รู้ได้ไปสบายๆ จากกิจการที่เป็นทรัพย์สมบัติชาติ
นี่เป็นความไม่ชอบประการแรกในการกระจายหุ้นครั้งนั้น และที่สำคัญสังคมไทยยังไม่เคยทราบข้อมูลจาก ปตท.เลยว่าบรรดาผู้มีอุปการะคุณที่ได้รับแจกหุ้นไปมีใครบ้างและได้ไปคนละ เท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นธรรมาภิบาลพื้นฐาน
กลุ่มที่สอง หุ้นขายให้ผู้ลงทุนต่างประเทศ 320 ล้านหุ้น มูลค่าส่วนต่างประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาทไม่นับรวมเงินปันผลและสิทธิอื่นๆ หุ้นกลุ่มนี้เชื่อว่ามีฝรั่งหัวดำที่เป็นคนไทยและทุนไทยโดยเฉพาะทุนการเมือง คว้าไปโดยจนบัดนี้ก็ไม่เคยปรากฏจะสืบสาวได้ต่อ
กลุ่มที่สาม เป็นหุ้นสำหรับบุคคลทั่วไปในประเทศ 235 ล้านหุ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเล่นหุ้นที่มีบัญชีกับโบรกเกอร์อยู่แล้ว
กลุ่มที่สี่ หุ้นที่จัดสรรให้ผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศ 220 ล้านหุ้น กลุ่มนี้ ปตท.อ้างว่าสำหรับประชาชนทั่วไปที่พอมีเงินเก็บอยากลงทุนระยะยาว อยู่ตามต่างจังหวัดแท้จริงแล้วก็คือหุ้นแต่งหน้าเค้กที่สร้างภาพลักษณ์ของ การกระจายไปสู่รายย่อยจริงๆ ตบตาว่าการแปรรูปครั้งนี้กว้างขวางและลึกไปถึงมือคนไทยอย่างหลากหลาย
การกระจายหุ้นในทุกกลุ่มมีปัญหาก่อให้เกิดคำถามตามมาในทุกกลุ่ม
สำหรับความไม่ชอบมาพากลเอาประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นส่วนตัวของเครือข่ายนักการเมือง และนักการพลังงาน กลุ่มแรกที่จะนำเสนอ คือ หุ้นแต่งหน้าเค้ก หรือหุ้นกลุ่มที่ 4 ซึ่งจัดสรรให้ผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศ 220 ล้านหุ้นเพราะการจัดสรรรอบดังกล่าวอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชน จำนวนมาก
หุ้นที่จัดสรรให้กับรายย่อย 220 ล้านหุ้น (ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังจัดสรรเพิ่มให้อีก 120 ล้านหุ้นรวมแล้วที่จัดสรรผ่านรายย่อยจำนวน 340 ล้านหุ้น) มีเงื่อนไขว่า ลูกค้าผู้สนใจต้องไปจองซื้อผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแม่ข่ายศูนย์ข้อมูลรับจองซื้อหุ้นจากสาขาธนาคาร ต่างๆ ทั่วประเทศ
ความผิดปกติของการฮุบหุ้นเกิดจากมีการประกาศล่วงหน้าว่า เงื่อนไขของการจองครั้งนี้มีเพดานจำกัดปรากฏในหนังสือชี้ชวนเขียนว่า “ผู้จองซื้อรายย่อยจะต้องจองซื้อขั้นต่ำจำนวน 1,000 หุ้น และจะต้องเป็นทวีคูณของ 100 หุ้นแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 100,000 หุ้นต่อใบจองซื้อ”
แปลความเป็นภาษาที่ประชาชนทั่วไปรับรู้คือ แต่ละคนห้ามซื้อเกิน 1 แสนหุ้น
ปตท.พยายามจะบอกกับสาธารณะว่า การกระจายหุ้นครั้งนี้ต้องการให้ประชาชนคนไทยรายย่อยในต่างจังหวัดได้หุ้น กระจายไปถ้วนทั่วถึงขนาดที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในขณะนั้นเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “เพื่อให้สามารถกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนผู้สนใจได้จำนวนมาก จึงได้มีการ ปรับลดยอดการสั่งจองหุ้นต่อ 1 ใบจองจากเดิม สามารถจองได้ตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 500,000 หุ้น มาเป็นตั้งแต่ 1,000 หุ้น สูงสุดไม่เกิน 100,000 หุ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการสั่งจองหุ้น ปตท.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด บริษัทฯ จึงได้วางมาตรการอย่างรัดกุมให้การแจกใบจองหุ้นพร้อมเอกสารและขั้นตอนการจอง หุ้นมี ความสมบูรณ์ ครบถ้วนและพร้อมเพรียงกันทุกสาขาธนาคารทั่วประเทศ” (ผู้จัดการรายวัน 9 พ.ย. 2544)
เมื่อถึงกำหนดซื้อขายจริงปรากฏว่าการขายหุ้นครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2544 หมดเกลี้ยงในพริบตาหุ้นล็อตแรก 220 ล้านหุ้นหมดใน 1.25 นาที!! จากนั้นหุ้นเพิ่มเติมที่กระทรวงการคลังตัดมาให้อีก 120 ล้านหุ้นก็หมดไปด้วยอย่างรวดเร็ว 340 ล้านหุ้นรวมแล้วขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 4.4 นาทีเท่านั้น
ข่าวหนังสือพิมพ์ธุรกิจบางฉบับรายงานว่า บางธนาคารผู้ลงทุนรายย่อยบางคนยังไม่ทันกรอกรายละเอียดในใบจองเลยหุ้นก็หมดแล้ว
เรื่องร้อนๆ ที่เป็นผลประโยชน์ติดมือแบบนี้เลี่ยงไม่พ้นการตรวจสอบเพราะต่อจากนั้นมี รายงานว่าผู้จองหุ้นบางรายได้เกินจากเงื่อนไขที่ประกาศไว้ 1 แสนหุ้น บางคนได้ไปหลายแสนหุ้นขณะที่บางคนได้จัดสรรไปถึงล้านหุ้นก็มี
ในที่สุดมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำเป็นต้องตั้งกรรมการตรวจสอบการกระจายหุ้นซึ่งมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ข่ายคอมพิวเตอร์ร่วมกับธนาคารอีก 4 แห่ง ในที่สุดผลการตรวจสอบก็ออกมาเมื่อมกราคม 2545 ผลสอบระบุว่า การจัดสรรหุ้นครั้งนั้น “ผิดปกติจริง” เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า web server ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อชี้ชวน
ลูกเล่นของธนาคาร คือ สามารถกรอกรายการล่วงหน้าแล้วรอกดปุ่มรอบเดียวชื่อที่ล็อกไว้ก็จะเข้าไปใน บัญชีรายการจองได้เร็วกว่าคนอื่น นำมาสู่มติของ ก.ล.ต.ที่ลงโทษธนาคารไทยพาณิชย์ด้วยการพักการเป็นตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ เป็นเวลา 6 เดือน
การสั่งสอบของ ก.ล.ต.ดูเผินๆ เหมือนจะธำรงความยุติธรรมให้กับสังคมโดยเฉพาะประชาชนรายย่อยแต่แท้จริง แล้วกลับไม่มีผลใดๆ เลยเพราะมีแค่ลงโทษด้วยการไม่ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ต้องขายหุ้นในประเทศแค่ 6 เดือนแต่ไม่ได้สั่งให้เปลี่ยนแปลงสิทธิ์การถือครองและก็ไม่สืบสาวราวเรื่อง ใดๆ ต่อปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปโดยมีผู้รับบาปถูกลงโทษแบบจิ๊บจ๊อยอย่างเสียไม่ ได้
การกระจายหุ้นกลุ่มที่ 4 หรือผู้จองซื้อรายย่อยในประเทศ 220 ล้านหุ้นที่มีหลักฐานความผิดปกติยืนยันเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ โผล่พ้นน้ำขึ้นมา เพราะการกระจายหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ก็มีความฉ้อฉลไม่ได้กระจายสู่ตลาดเสรีตามปกติ นี่คือต้นทางของการฮุบผลประโยชน์จากองค์กรการพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยนโยบายการเมืองไปเป็นของตนและพวกพ้องนำมาสู่การบริหารกิจการพลังงาน เพื่อนายทุนนักการเมืองและพวกพ้องแทนที่จะเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและ ประชาชนส่วนรวมในเวลาต่อมา
รายงานนี้เป็นตอนแรกและจะนำเสนอเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อนของ ปตท.ในตอนต่อๆ ไป.