Consumerthai - รัฐสภา วันที่ 27 เมษายน เครือข่ายพลเมืองไทยปฏิรูปพลังงาน เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ยื่นจดหมายเปิดผนึกเครือข่ายประชาชนคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ ถึงนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
จดหมายเปิดผนึกเครือข่าย ระบุว่า สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573(แผนพีดีพี 2010) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อเดือนมีนาคม 2553 โดยมีพลังงานนิวเคลียร์อยู่ในแผน 5,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 30 โรงในระยะ 20 ปีจากนี้ไปนั้น ทราบว่าขณะนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำลังพิจารณาที่จะทบทวนปรับปรุงแผนฯ ใหม่ โดยการปรับเลื่อนโครงการพลังงานนิวเคลียร์ออกไปจากแผนเดิม 3 ปี พวกเราซึ่งลงชื่อมาในจดหมายฉบับนี้ มีความเห็นและข้อเสนอต่อการทบทวนแผนพีดีพีในครั้งนี้ ดังนี้
1. ปัญหาของการวางแผนพีดีพีที่เป็นมาโดยตลอดก็คือ “การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าอย่างสูงเกินจริง” และนำไปสู่ “การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น” ดังจะเห็นได้จากแผนพีดีพี 2010 ซึ่งคาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1,500 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนพีดีพี 2010 จะต้องมีการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่มากถึง 54,000 เมกะวัตต์ภายในปี พ.ศ.2573 แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราย่อมทราบกันดีว่า วัฎจักรเศรษฐกิจของเราคงไม่สามารถเติบโตติดต่อกันทุกปีได้ขนาดนั้น นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการวางแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศจีน ซึ่งอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศไทยมาก ประเทศจีนใช้ตัวเลขการเติมโตของจีดีพีเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้นในการวางแผน ในขณะที่ไทยใช้อัตราร้อยละ 5 ในการวางแผน
2.ข้อเท็จจริงของความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยจากอดีตที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 830 เมกะวัตต์ต่อปี ไม่ได้สูงถึง 1,500 เมกะวัตต์ดังที่คาดการณ์ในแผนพีดีพี 2010 และเมื่อเราใช้ค่าเฉลี่ยนี้ในการวางแผน ก็จะพบว่า ในปี 2573 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 เมกะวัตต์ เมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีก 15% ในปี 2573 เราควรมีกำลังผลิตประมาณ 46,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่แผนพีดีพี 2010 กำหนดให้มีกำลังผลิตถึง 65,547 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินความจำเป็นไปเกือบ 20,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นเงินลงทุนหลักล้านล้านบาทที่ประชาชนต้องร่วมกันแบกรับ
3. กล่าวโดยสรุปแล้ว พลังงานนิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอีกนับสิบโรงที่อยู่ในแผนพีดีพี 2010 นั้น เป็นสิ่งที่สามารถถอดออกจากแผนฯ ได้โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าของประเทศแต่อย่างใด
4. สืบเนื่องจากการลงทุนของ กฟผ. ซึ่งรัฐบาลได้ให้หลักประกันในเรื่องกำไรจากการลงทุน (Return On Invested Capital : ROIC) ของ กฟผ.ในอัตรา 8.4% ของเงินลงทุน ทำให้การวางแผนพีดีพีของ กฟผ.แต่ละครั้ง โน้มเอียงไปในทางมุ่งเน้นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยต้นทุนที่เกินความจำเป็นหรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถผลักภาระให้แก่ผู้บริโภคผ่านกลไกค่าเอฟทีได้ตลอดเวลา ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนใหม่ เพื่อประสิทธิภาพในการวางแผนลงทุนของ กฟผ.
5. ในเรื่องต้นทุน ซึ่งกระทรวงพลังงานและ กฟผ. มักจะประชาสัมพันธ์ว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่มีต้นทุนถูกที่สุด แต่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเองก็ทราบดีว่า คำโฆษณานี้ไม่เป็นความจริง ดังที่ ฯพญฯ ได้เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ว่า โครงการพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกมักจะประสบปัญหาเรื่องต้นทุนบานปลาย
6. จากวิฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเหตุการณ์ได้ผ่านมาเดือนเศษแล้ว แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างสิ้นเชิง สะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างน่าไว้วางใจ ทั้งยังเป็นประจักษ์พยานที่ยืนยันว่า พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ “พลังงานสะอาด” ดังที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมักจะโฆษณากัน แต่ตรงกันข้าม ผลกระทบของพลังงานนิวเคลียร์เป็นเรื่องข้ามพรมแดนประเทศ และพิษภัยจะดำรงคงอยู่เป็นเวลานานนับสิบปี ดังเช่นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ญี่ปุ่น ซึ่งพื้นที่ปนเปื้อนรังสีในรัศมี 20 กิโลเมตรอาจต้องถูกประกาศเป็นเขตหวงห้ามอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปี และกรณีอุบัติเหตุเชอร์โนบิลซึ่งขณะนี้ผ่านมา 25 ปีแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนก็ยังมีอยู่ต่อไป อีกหลายทศวรรษ
ดังนั้น เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเครือข่ายประชาชนต่างๆ ที่ลงชื่อในท้ายจดหมายนี้ จึงขอเรียกร้อง ดังนี้
1. การปรับปรุงแผนพีดีพีโดยการเลื่อนพลังงานนิวเคลียร์ออกไป 3 ปี ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม แต่รัฐบาลควรถอดพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากแผนฯ และยกเลิกการจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณในการประชาสัมพันธ์สร้างการยอมรับของประชาชนต่อ พลังงานนิวเคลียร์
2. ในการทบทวนแผนพีดีพี 2010 รัฐบาลต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการพิจารณาจัดทำแผนฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่ปล่อยให้การวางแผนพีดีพีอยู่ในกำมือของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายพลังงานไฟฟ้า