นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงแผนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ว่า ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอ จะตรวจสอบผลการศึกษาในเดือน ธ.ค.นี้ หากไม่มีการปรับปรุง จะเสนอผลการศึกษาให้รัฐบาลต่อไป ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2557 ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสมมี 2 แห่ง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่สำคัญ เพราะช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งหลายประเทศต้องหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งข้อกำหนดทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปหรือกลุ่มอียู ที่เริ่มมีข้อกำหนดทางการค้าโดยอาศัยกลไก CARBON FOOTPRINT เพื่อเปรียบเทียบอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่ส่งมาจำหน่ายใน อียู และต้นทุนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังเอื้อต่อเอกชนในการแข่งขันในเวทีโลก โดยต้นทุนปัจจุบันอยู่ที่ 2.79 บาทต่อหน่วย ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินมีต้นทุน 2.94 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมมีต้นทุน 4.34 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้ากังหันแก๊สมีต้นทุน 13.74 บาทต่อหน่วย
ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านได้เร่งพัฒนาโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ที่เร่งพัฒนาจนต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำมาก หรือ 1.60 บาทต่อหน่วย ขณะที่ญี่ปุ่น 5 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเรือย้ายฐานลงทุนไปเกาหลีใต้ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังช่วยกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติกว่า 71% หากมีเหตุการณ์เช่นแหล่งก๊าซฯ ในพม่าหยุดส่งก๊าซฯ จะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าในไทยทันที โดยทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 440 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 58 แห่ง
นอกจากนั้น ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยยังลดลง โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าปริมาณก๊าซฯ จะลดลง 50% คาดว่าจะหมดจากประเทศในอีก 20 ปี ซึ่งต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี และจะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มขึ้นแน่นอน
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 05 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553