"ไอเออีเอ" มั่นใจไทยมีความพร้อมสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหนือเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ยังติดปัญหามวลชนที่ต้องเร่งเคลียร์ เตรียมเดินทางมาพ.ย.นี้ ช่วยปรับปรุงรายงาน ก่อนส่งให้ครม.พิจารณาตัดสินใจเดินหน้าหรือไม่ สนพ.เผยหากรัฐบาลไม่เอา เตรียม 2 แผนสำรองให้เลือก ไม่พ้นใช้ก๊าซแอลเอ็นจีราคาแพงกับถ่านหินเพิ่ม
นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์(สพน.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า หลังจากที่สพน.ได้เสนอรายงานด้านความพร้อมของประเทศไทยในการก่อสร้างโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ กับทางสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา เพื่อประเมินความพร้อมใน 19 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็น ด้านกฎหมาย บุคลากร การดูแลความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ก่อสร้าง การเก็บสารกัมมันตรังสี เป็นต้น
โดยล่าสุดทางไอเออีเอได้ ตอบกลับมาในช่วงแรกแล้วว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เนื่องจากกฎหมายที่จะออกมากกำกับในด้านต่างๆ มีความพร้อมเพียงพอ และมีมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนได้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดและจัดเก็บสารกัมมันตรังสี ซึ่งมีความพร้อมเหนือกว่าประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีแผนกำลังสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในขณะนี้ แต่ทางไอเออีเอ ได้มีคำแนะนำให้รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนมากขึ้น เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับการดำเนินงานต่อไปนั้น ทางสพน.จะนำข้อเสนอจากไอเออีเอมาปรับปรุง เพื่อสรุปเป็นภาพรวมทางด้านต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากไอเออีเอเดินทางมาช่วยดูอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบว่าจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่ ในช่วงต้นปีหน้า
ส่วนพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านั้น จากผลการศึกษาที่ผ่านมา ได้สรุปไว้แล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชุมพร นครศรีธรรมราช และอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 แห่ง แต่ระหว่างนี้จะทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสรุปพื้นที่ก่อสร้างให้เหลือ 2 แห่ง เพื่อรายงานให้กพช.และครม.รับทราบในช่วงต้นปีหน้า
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า หากทางคณะรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ทางกพช.ก็ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานไปจัดทำแผนสำรอง เพื่อรองรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีไว้แล้ว จากเดิมที่แผนพีดีพี 2010(2553-2573) ซึ่งเป็นแผนหลัก กำหนดให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ โดยเครื่องแรกจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 ส่วนเครื่องที่ 2,3,4, และ 5 จะเข้าระบบในปี 2564 ปี 2567 ปี 2568 และปี 2571 ตามลำดับ
โดยแผนสำรองที่ 1 จะเป็นการเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมเข้าระบบในปี 2563 เป็นในปี 2565 แทน ส่วนเครื่องที่ 2,3,4 และ 5 จะเข้าระบบในปี 2566 ปี 2569 ปี 2570 และปี 2573 ตามลำดับ ซึ่งผลจากการเลื่อนนี้ จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 เข้าระบบแทน ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนี้ จะก่อสร้างให้สถานที่เดิมที่อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยจะทำให้กำลังการผลิตรวมเมื่อสิ้นปี 2573 ยังคงเท่ากับแผนพีดีพี 2010 ที่ 65,547 เมกะวัตต์
ส่วนแผนสำรองที่ 2 กรณีที่ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าจากต่างประเทศ ก่อสร้างในพื้นที่เก่าของโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ ซึ่งจะส่งผลให้มีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาอีก 1 โรง รวมเป็น 14 โรง จากแผนพีดีพีหลัก กำหนดให้มีเพียง 13 โรง รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันแก๊ส ขนาด 250 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5 โรง จากแผนหลักไม่มีการกำหนดไว้ โดยจะส่งผลให้สัดส่วนการใช้ก๊าซเพิ่มขึ้น จากแผนพีดีพีหลักที่กำหนดไว้ 39% ในปี 2573 เพิ่มเป็น 43%
นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นมาอีก 4 โรง รวมเป็น 13 โรง จากแผนพีดีพีหลัก กำหนดไว้เพียง 9 โรงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากแผนพีดีพีหลักกำหนด ไว้เพียง 21% เมื่อถึงสิ้นปี 2573 เพิ่มเป็น 28% โดยจะทำให้กำลังการผลิตรวมเมื่อถึงสิ้นปี 2573 อยู่ที่ 65,617 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้น จะไม่มีการนำพลังงานทดแทนเข้ามาอยู่ในแผนสำรอง เนื่องจากการนำพลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการเสนอขายไฟฟ้ามาจำนวนมาก จะพึ่งได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันและมีราคาแพง และหากนำเข้ามาบรรจุอยู่อาจจะต้องสร้างทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปริมาณที่ มากกว่า 6-7 เท่า เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าฐานมีความมั่นคงสูง ราคาไม่แพง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,563 5-8 กันยายน พ.ศ. 2553