สหภาพแรงงานฯกฟผ. ดับเครื่องชนโรงไฟฟ้าบางคล้า จี้เอกชนที่แพ้ประมูลไอพีพีฟ้องศาล เรียกความยุติธรรมกลับคืนมาให้ประชาชน หลังกพช.อนุมัติขึ้นค่าไฟอีก 9.49 สตางค์ จากย้ายไปสร้างในพื้นที่แห่งใหม่ เผยเป็นการเอื้อประโยชน์กว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นความผิดของโรงไฟฟ้าเอง แนะผู้ว่าการกฟผ.หากลงนามซื้อไฟฟ้า ต้องพิจารณาให้ดี มีสิทธิไปขึ้นศาล หากมีคนฟ้องร้องขึ้นมา
นาย ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(สร.กฟผ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากกรณีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าบางคล้า ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ที่มีบริษัท กัลฟ์เจพี จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.94% ย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปยังนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และให้ปรับค่าไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เพิ่ม ขึ้นอีก 9.49 บาทต่อหน่วย เป็น 2.74 บาทต่อหน่วยนั้น
ทางสร.กฟผ.เห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นความผิดของผู้ประกอบการเองที่ไม่สามารถทำความเข้าใจกับประชาชน ในพื้นที่ได้ และมาอ้างว่าเกิดจากการที่หน่วยงานรัฐไปทำข้อตกลงกับชุมชนที่คัดค้าน จนไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้นั้น แต่ทางโรงไฟฟ้ากลับมาอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดจากหน่วยงานรัฐ และขอย้ายพื้นที่ก่อสร้างรวมถึงปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการไม่สมควร เพราะจะเป็นการให้ประชาชนเข้ามาแบกรับค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้แทน ทั้งที่ความผิดเกิดจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอง
นอกจากนี้ การที่โรงไฟฟ้ามาอ้างว่า การย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในจุดนี้ได้มีการตอบคำถามสาธารณชนหรือยังว่าเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งที่ที่ดินก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งเดิม ทางโรงไฟฟ้าสามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นหรือขายที่ดินออกไปเป็นรายได้เข้า มาได้ ในจุดนี้ได้นำมาคิดหรือหักออกหรือยัง ซึ่งการขอปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนี้ ทำให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบและความเสี่ยงใดๆ ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้ากลับขายได้เพิ่มขึ้นนับ 10,000 ล้านบาท ในอายุสัญญา 25 ปี
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสร.กฟผ.ได้เชิญผู้บริหารกฟผ.เข้ามาชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ เนื่องจากยังยืนยันว่าดำเนินการถูกขั้นตอน ตามที่อัยการสูงสุดได้มีหนังสือให้ภาครัฐสามารถเจรจากับภาคเอกชนได้ ในกรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่แห่งเดิมได้ ซึ่งในกรณีนี้ อัยการสูงสุดได้ตอบกลับมาว่าเอกชนสามารถเปิดเจรจากับภาครัฐได้ และหากจะมีการย้ายพื้นที่ก่อสร้าง ต้องไม่ขัดหลักเกณฑ์การประมูลไอพีพี โดยมีกรอบว่าจะต้องไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี
นายศิริชัย กล่าวอีกว่า จากความไม่โปร่งใสดังกล่าว ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการหารือกับเอกชนที่ทำการประมูลไอพีพีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นในบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) ว่าจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการทบทวนเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากมองว่า เป็นการเอาเปรียบผู้ประมูลรายอื่น โดยการเสนอราคาค่าไฟฟ้ามาต่ำ เพื่อให้ได้ชนะการประมูล แต่เมื่อไม่สามารถดำเนินการได้ ก็สมควรที่จะต้องคืนสิทธิที่ได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า แล้วให้มีการเปิดดำเนินการประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสนอราคารายอื่นๆ ได้มีการแข่งขันบนพื้นฐานที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน โปร่งใสแก่ทุกฝ่าย
"ปกติผู้ผลิตไฟฟ้าทุกรายจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาเป็นอย่างดี ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่บริษัทเลือกเอง เมื่อไม่สามารถทำได้ก็สมควรยกเลิกสัญญา และต้องเสียค่าปรับที่ทำให้การวางแผนผลิตไฟฟ้าคลาดเคลื่อน อีกทั้งเงื่อนไขการประมูลไอพีพีที่ระบุไว้ หากโรงไฟฟ้าบางคล้าไม่สามารถทำการศึกษาวิเคราะห์กระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ที่จะต้องผ่านการอนุมัติภายในสิ้นปี 2553 ก็จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แต่ทางผู้ประกอบการกลับยื่นหนังสือขอย้ายสถานที่ตั้งไปยังพื้นที่อื่นและขอ ปรับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น"
นายศิริชัย กล่าวเสริมอีกว่า ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้าบางคล้ามีความโปร่งใสในการดำเนินจริง ก็ควรที่จะให้มีการเปิดประมูลใหม่ และหากมั่นใจว่าโครงการจะชนะประมูลก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร เพราะยังมีระยะเวลาเหลือที่พอจะเปิดประมูลใหม่ได้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าที่แห่งใหม่นี้ กว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ต้องเลื่อนออกไปอีก 2 ปี เป็นปี 2559 ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้หารือกับทางผู้ว่าการกฟผ.ไปแล้ว ว่าการจะลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าบางคล้า ควรจะพิจารณาให้ดี เพราะหากมีการฟ้องร้องขึ้นมา ผู้ว่าการกฟผ.จะเข้าไปมีส่วนที่จะต้องขึ้นศาลด้วย
นายวินิจ แตงน้อย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน)(บมจ.เอ็กโก) เปิดเผยว่า ในเรื่องดังกล่าวนี้ทางบมจ.เอ็กโกคงจะไม่ยื่นฟ้องแต่อย่างใด ถึงแม้การประมูลไอพีพีที่ผ่านมาคะแนนจะอยู่ในลำดับที่ 2 ก็ตาม แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของทางภาครัฐว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ จะดำเนินการหรือไม่ เวลานี้ยังไม่ทราบเรื่อง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,549 18-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553