4จว.ระทึกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กฟผ.เดินหน้าเล็งหาผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์

กฟผ.เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ เผยขยับเข้าสู่การดำเนินการตามแผนขั้นที่ 2 เตรียมทำข้อตกลง Confidentiality Agreement (CA) กับ บริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ชั้นนำของโลกเพื่อรับข้อมูลเพิ่ม ด้านบริษัทที่ปรึกษาโครงการ Burns and Roe ตัดพื้นที่ก่อสร้างจาก 6 จังหวัดเหลือ 4 ที่ "สุราษฎร์ธานี- นครสวรรค์-ขอนแก่น-ตราด" มีสิทธิถูกหวย แต่ยังถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านหนัก

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานความคืบหน้าในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขนาด 2,000 เมกะวัตต์ เข้ามาว่า องค์กรอิสระภาคเอกชน (NGO) กำลังจับตาการดำเนินโครงการนี้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับเริ่มมีกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่เป้าหมาย 14 แห่ง ใน 6 จังหวัดที่วางเอาไว้ โดยล่าสุดมีการยืนยันจากกลุ่ม NGO โครงการได้ก้าวเข้าสู่แผนการดำเนินการ ขั้นที่สอง หรือ Milestones for NPP คือ ขั้นเตรียมการด้านข้อกำหนดการประกวดราคาแล้ว โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการลงนามใน ข้อตกลง Confidentiality Agreement หรือ CA กับบริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว

ทั้งนี้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan 2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 2 โรง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 2,000 เมกะวัตต์ ให้พร้อมผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563-2564 โดยให้ กฟผ.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

หลังจากนั้นก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น ภายในประเทศให้ได้ ด้วยการตั้งหน่วยงานภายในขึ้นรับผิดชอบโครงการ การตั้งคณะกรรมการชุด ต่าง ๆ ตามมาด้วยการรณรงค์ถึงข้อดีของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากหน่วยงานของรัฐที่ เกี่ยวข้อง พร้อมกับการว่าจ้างบริษัท Burns and Roe Asia เข้ามาศึกษาความเหมาะสมของโครงการตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยมีการวางแผนการดำเนินการออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมการเบื้องต้น ระหว่างปี 2007-2011 ด้วยการบรรจุรายชื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าไปไว้ในแผน PDP การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ การสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงไฟฟ้า และรณรงค์ข้อดีของการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขั้นตอนที่ 2 การเตรียมการด้วยข้อกำหนด และการเตรียมการประกวดราคาเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระหว่างปี 2011-2014 และขั้นตอนที่ 3 การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระหว่าง ปี 2014-2020

"เข้าใจว่า กฟผ.กำลังดำเนินการเข้าสู่ ขั้นตอนที่ 2 ของแผนแล้ว โดยจะสังเกตได้ว่า ในปลายปี 2552 ได้มีการลงนามในเอกสารสำคัญที่เรียกว่า Confidentiality Agreement หรือ CA ซึ่งได้รับการอธิบายว่า เป็นสัญญาลับว่าจะซื้อ "แท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Reactor) และยูเรเนียม กับ 5 บริษัทชั้นนำของโลกผู้ผลิตปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้ว โดยหลังการลงนามในสัญญาดังกล่าว กฟผ.มีสถานะเหมือนเป็น "ลูกค้า" ของ บริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ได้รับข้อมูลที่มีความสำคัญเพิ่มเติมสำหรับการศึกษาความเหมาะสมในการก่อ สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งด้านการเงิน ระบบความปลอดภัย การจัดหาแท่ง เชื้อเพลิง การกำจัด เป็นต้น"

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้สอบถามไปยัง กฟผ.ถึงการลงนามและความสำคัญของข้อตกลง CA แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อตกลงฉบับนี้

ด้านแหล่ง ข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวถึงสัญญา CA เบื้องต้นว่า การลงนามเอกสาร CA ครั้งนี้ยังไม่ได้ถือเป็นข้อผูกมัดว่า กฟผ.จะต้องซื้อทั้งแท่นปฏิกรณ์นิวเคลียร์และยูเรเนียมจากบริษัทที่ลงนาม และในช่วงที่ประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งแต่ปี 2519 ได้มีการลงนามในลักษณะแบบนี้แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลยกเลิกโครงการ สัญญาที่จะซื้อได้ยกเลิกไปเช่นกัน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสามารถขายแท่นปฏิกรณ์และแร่ยูเรเนียมให้กับประเทศที่สนใจ ต่อไปได้ ในขณะนั้น กฟผ.เสียเพียงค่าธรรมเนียมบางส่วน

"การเซ็นสัญญานี้จะเหมือนว่าเราอยู่ใน List ของแต่ละบริษัทผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ว่าประเทศนี้กำลังจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะได้เตรียมผลิตต่อไป แต่สัญญาครั้งนี้ไม่ทราบเงื่อนไขที่ กฟผ.ลงนามไว้ว่าเป็นอย่างไร เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า Confidentiality Agreement ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำด้านนิวเคลียร์ของโลกที่เป็นผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ ได้แก่ 1) บริษัท Areva ของฝรั่งเศส 2) บริษัท EDF ของฝรั่งเศส 3) บริษัท General Electric หรือ GE ของประเทศสหรัฐ 4) บริษัท Mitsubishi ของญี่ปุ่น และ 5) บริษัท Atomic Energy Of Canada ของแคนาดา โดยในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมาทีมของผู้บริหารกระทรวงพลังงานได้เดินทางไปศึกษาโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์มาแล้วใน 3 ประเทศ คือ ประเทศฟินแลนด์ เยอรมนี และประเทศฝรั่งเศส"

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะให้ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ในเชิงลึก แล้ว ยังเปรียบเสมือนเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับบริษัท ผู้ผลิตเพื่อดำเนินการผลิตเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และยูเรเนียมเพื่อไว้รอง รับด้วย หากว่าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศสามารถเดินหน้าโครงการได้ เพราะในแต่ละขั้นตอนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ค่อนข้างใช้เวลามาก เฉพาะการก่อสร้างต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ประเทศเวียดนามที่มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังต้อง ลงนามในสัญญานี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงลงพื้นที่เป้าหมาย ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 14 แห่ง ใน 6 จังหวัด ได้ตัดลงเหลือเพียงใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, นครสวรรค์, ตราด และขอนแก่น ซึ่งทางบริษัท Burns and Roe Asia จะต้องเป็นผู้สรุปพื้นที่ที่เหมาะสมลงในรายงาน Final Report ต่อ สำนักพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ เสนอต่อไปยังกระทรวงพลังงาน และเสนอรัฐบาลเพื่ออนุมัติต่อไปภายในต้นปี 2554

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่เป้าหมายที่ถูกวางไว้ว่าจะสร้างโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ อาทิ การต่อต้านจากกลุ่มประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรงที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ โดย นายสะอาด ดุลหลังชาวบ้าน หมู่ที่ 11 ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ท่าชนะยังคงติดตามความเคลื่อนไหวโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาโดยตลอด หลังจากที่มีการประท้วงที่หน้าที่ว่าการอำเภอท่าชนะ และตลอดสองข้างทางบนถนนสายล่างตั้งแต่ ต.คันธุลี รอยต่อ จ.ชุมพร จนถึง ต.ท่าชนะ จะมีป้ายผ้าเขียนข้อความ "ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านไม่ต้องการ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

นายมงคล ธรรมฤทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคันธุลี อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ อ.ท่าชนะ จนกระทั่งมีการประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่บ้านเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2552 มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วม ชี้แจงโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีชาวบ้านราว 500 คน มาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอท่าชนะ ขับไล่เจ้าหน้าที่ของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจากพื้นที่ พร้อมยื่นคำขาดให้ขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจชั้นดินออกจากพื้นที่ด้วย

ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ
01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน