โรงก๊าซฯ6สะดุดดันนำเข้าแอลพีจีพุ่ง1.5แสนตัน

พิษมาบตาพุด ส่งผลโรงแยกก๊าซฯ 6 สะดุด ดันยอดนำเข้าแอลพีจี เดือนมี.ค.ทะลุ 1.5 แสนตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พลังงาน สั่ง ปตท.เลื่อนปิดซ่อมบำรุงประจำปีโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 2, 3 พร้อมใช้คลังแอลพีจีลอยน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนชั่วคราว

นายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ช่วงเดือนม.ค. 2553 เดือนละ 1 แสนตันได้ ทำให้กระทรวงพลังงานประเมินว่าปี 2553 จะต้องนำเข้าแอลพีจีต่อเดือนสูงกว่า 1แสนตัน เกินกว่าคลังแอลพีจี ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะรองรับได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงต้องบริหารจัดการ เพื่อป้องกันแอลพีจีขาดแคลน

ประกอบด้วย 1.นำคลังแอลพีจีลอยน้ำมาใช้ชั่วคราว คาดว่า ปตท.จะนำเรือบรรทุกขนาด 4.4 หมื่นตัน มาใช้ปลายเดือนม.ค. นี้ และ 2. เลื่อนปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 2 กำลังผลิต 3 หมื่นตันต่อเดือน จากต้นเดือนก.พ. เป็นปลายเดือนก.พ. 2553 ส่วนโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 3 กำลังผลิต 4.5 หมื่นตันต่อเดือนนั้น เลื่อนปิดซ่อมบำรุงจากกลางเดือนก.พ. เป็นเดือนมี.ค. 2553

ส่วนสถานการณ์นำเข้าแอลพีจีช่วงเดือน ม.ค. 2553 นำเข้าแล้วจำนวน 6.6 หมื่นตัน จากแผนนำเข้า 1.1 แสนตัน เดือนก.พ. มีแผนนำเข้า 1.32 แสน ตัน เดือนมี.ค.นำเข้า 1.5 แสนตัน และหลังเดือนพ.ค.เป็นต้นไป คาดว่าจะนำเข้าเฉลี่ย 1.32 แสนตันต่อเดือน จนกว่าโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 6 จะเดินครื่องผลิต


"ปีนี้ คาดว่าจะนำเข้าสูงถึง 1 แสนตัน -1.5แสนตันต่อเดือน ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ถ้าโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 6 เดินเครื่องได้ ความต้องการนำเข้าแอลพีจีจะหมดไป"
ขณะที่ การนำเข้าแอลพีจี

ปี 2552 มีปริมาณรวม 7.53 แสนตัน มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากยอดการใช้ในประเทศ และราคาแอลพีจีตลาดโลกสูงขึ้น ส่วนการใช้แอลพีจีในประเทศ ปี 2552 อยู่ที่ 1.24 หมื่นตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 6% โดยการใช้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5% ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 45% การใช้ในรถยนต์ และภาคอุตสาหกรรมลดลง 14% และ 11% ตามลำดับ เพราะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ส่วนราคาแอลพีจีเพิ่มขึ้นจาก 380 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนม.ค. 2552 มาอยู่ที่ 725 ดอลลาร์ต่อตัน ในเดือนธ.ค. 2552 และเดือนม.ค. 2553 ราคานำเข้าแอลพีจีไม่รวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 737 ดอลลาร์ต่อตัน และคาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมัน

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 20 / 01/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน