รสนา ผิดหวังรัฐบาลไม่มีผลงานเรื่องพลังงาน แถมทำหูทวนลมทั้งปี

สว.รสนา ผิดหวังรัฐบาลที่ไม่มีผลงานเรื่องพลังงาน พูดให้ฟังทั้งปีทำหูทวนลม มองไม่เห็นความทุกข์ผู้บริโภค แถมสงสัยนโยบายพลังงานของรัฐบาล

วันที่ 24 ธันวาคม นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงข่าวสรุปผลการตรวจสอบธรรมาภิบาลพลังงานประจำปี 2552 ย้ำผิดหวังรัฐบาลที่ไม่มีผลงานเรื่องพลังงาน อีกทั้งเอื้อประโยชน์ให้บริษัทปตท. ล้วงเงินจากกองทุนน้ำมัน


นางสาวรสนากล่าวว่า ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลในกิจการพลังงานไทย รัฐบาลต้องมีการปรับอัตราค่าภาคหลวงหรือสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ ทั้งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรพลังงานระดับน้อง ๆ กลุ่มประเทศโอเปค

ปัจจุบันรัฐเก็บค่าสัมปทานในอัตราต่ำมากคืออยู่ที่ร้อยละ 5-15 เท่านั้น และต่ำที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า เวียตนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน โดยปกติประเทศต่างๆ จะปรับส่วนแบ่งรายได้เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น เช่นประเทศโบลิเวียรัฐเก็บรายได้เข้าประเทศที่ร้อยละ 82 ทั้งที่เป็นประเทศที่มีก๊าซธรมชาติน้อยกว่าประเทศไทย

“รัฐบาลอวดอ้างความสำเร็จในนโยบายที่ไม่มีการตรวจสอบ แต่เรื่องพลังงานที่มีคณะกรรมาธิการฯตรวจสอบตลอดทั้งปี กลับบอกว่าจะเปลี่ยนนโยบาย พูดให้ฟังทั้งปีทำหูทวนลม มองไม่เห็นความทุกข์ผู้บริโภค” นางสาวรสนา กล่าว

พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่าราคาน้ำมันรัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้เกิดกลไกตลาดเทียมในการดำเนินกิจการ โดยอ้างว่าต้องซื้อน้ำมันเท่ากับราคานำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ มีการบวกต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงทั้งค่าประกัน ค่าขนส่ง ระหว่างสิงคโปร์มาไทย ทั้งที่กลั่นในประเทศได้ทั้งหมด ทำให้ราคาน้ำมันสูงเกินจริง

ไทยสามารถพึ่งตนเองในการผลิตวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมันได้ร้อยละ 40 นำเข้าร้อยละ 60 แต่กลับมีข้อมูลออกว่ามานำเข้าน้ำมันร้อยละ 85 ซึ่งส่วนที่เกินเป็นการนำเข้าเพื่อส่งออกแต่กลับให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับประชาชน ประชาชนยังไม่รู้เลย เรามีแหล่งน้ำมันที่ไม่ขี้ริ้ว เป็นเศรษฐีได้ แต่เงินส่วนนั้นไม่ได้กลับมาที่รัฐไปอยู่ตรงไหน” ประธานคณะกรรมาธิการกล่าว

นอกจากนี้ได้เสนอธรรมาภิบาลในกิจการก๊าซธรรมชาติว่า ปัจจุบันมีการโอนอำนาจการดูแลเรื่องก๊าซธรรมชาติ และก๊าซหุงต้มจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาต (กพช.) มาให้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง) โดยที่คณะกรรมการใน กบง.มากกว่าครึ่งเป็นกรรมการในเครือ บมจ.ปตท. ทำให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นหลายประเด็น อาทิ การนำเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันไปชดเชยผลประโยชน์ปตท. เช่น การก่อสร้างเอ็นจีวี โดยกรรมสิทธิ์เป็นของปตท.แต่เพียงผู้เดียว และนำเงินกองทุนไปชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจี ทั้งที่ภาคยานยนต์ใช้ก๊าซลดลง 7.6 หมื่นตัน ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีใช้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 แสนตัน นับเป็นการล้วงเงินประชาชนไปให้ปตท. อย่างไม่เป็นธรรม

พร้อมทั้งเสนอทางออกกรณีความขัดแย้งผลประโยชน์ของเจ้าพนักงานของรัฐกับบทบาทของกรรมการบริษัทเอกชนด้านพลังงานว่า “จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายและกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่า การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจของเจ้าพนักงานของรัฐให้ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของรัฐเพื่อเข้าไปกำกับดูแลไม่ให้สังคมโดยรวมได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจพลังงาน และต้องมีกฎข้อห้ามมิให้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่สะท้อนและเชื่อมโยงไปกับผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของภาคธุรกิจนั้นๆ และห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนใดๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น” นางสาวรสนา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ
- แฉนอมินีนักการเมืองโกยกำไรปตท.เข้ากระเป๋า2แสนล้าน
- ปตท.โก่งราคาน้ำมัน-ก๊าซ สูบกินถึงติดรวยสุดในโลก

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน