ปรับเพิ่มขึ้น ล้านบีทียูละ 2.01 บาท
"ไม่ต้องพูดถึงเรื่องปรับขึ้นราคา เอาแค่อัตราที่ใช้ปัจจุบัน ก็ถือว่าเป็นเรื่อง ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว" สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดให้ค่าผ่านท่อเป็นค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ ทำให้แต่ละปี ปตท.ได้กำไรส่วนเกินไปปีละกว่า 2,500 ล้านบาท
สารี บอกว่า ที่ผ่านๆมา มีการประมาณการตัวเลขการใช้ก๊าซน้อยกว่า การใช้ที่เกิดขึ้นจริง ผลก็คือ การกำหนดราคาค่าผ่านท่อสูงเกินจริง
"เม็ดเงินส่วนต่างนี้ ปตท.ได้ไป นับเป็นเงินหลายหมื่นล้าน"
สมมติว่า ถ้าจะปรับราคาค่าผ่านท่อก๊าซกันจริงๆ สารี บอกว่า ปตท.ควรปรับลดมากกว่าปรับเพิ่ม ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ
ประการแรก ปตท.คิดอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return ofEquality : ROE) สูงกว่าค่ามาตรฐาน คิดถึงร้อยละ 18 ทั้งที่ควรคิดเพียงร้อยละ 14
ประการต่อมา การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 40 ปี ไว้ในอัตราคงที่ ร้อยละ 10.5 ในความเป็นจริง...อัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดตลอดเวลา คิดค่าผ่านท่อบนฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงขนาดนี้ ทำให้ ปตท.ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ
คำนวณกันเล่นๆ หากปรับลดอัตราผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละ 14 อัตรา ดอกเบี้ยตามที่ควรจะเป็นร้อยละ 5.75 มูลค่าก๊าซจะลดลงมากถึง 3,800 ล้านบาท
ค่าบริการต้นทุนคงที่ (Demand Charge) เป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของราคาค่าส่งท่อก๊าซ จะลดลงจากเดิม 19.40 บาท...เป็น 13.13 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น
น่าฉงนสงสัยเข้าไปใหญ่...ตัวเลขฐานราคาที่สูงลิ่ว ทำให้ค่าผ่านท่อก๊าซแพงเกินจริง ใครเป็นคนรังสรรค์ปั้นแต่ง
สิ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหายมากที่สุดของการปรับขึ้นราคาผ่านท่อก๊าซ คือ ปตท.มีการปรับมูลค่าท่อก๊าซใหม่สูงถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งที่มูลค่าจริงที่เหลืออยู่มีเพียง 32,000 ล้านบาท
"ที่ผ่านมา มีการจ่ายมูลค่าท่อตรงส่วนนี้ไปแล้ว" สารี ว่า "คิดง่ายๆเหมือนเราจ่ายเงินซื้อของไปหมดแล้ว สมมติว่า 100 บาท แต่มีการประเมินว่าของนั้น มีมูลค่าอีก 50 บาท ก็มาเก็บเงินเรา 50 บาทอีกรอบ"
จับตาไปที่ ปตท. ยังไม่ได้คืนทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชนหามาได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติ อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ปตท.เอาทรัพย์สินประชาชนมาหากำไรกับประชาชน
"ชัดเจนว่าเอาเปรียบประชาชน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้"
ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติอัตราค่าผ่านท่อก๊าซให้ ปตท.จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ทั้งด้วยเหตุผลและทั้งด้วยเรื่องไม่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณชน
ผลพวงสำคัญที่จะตามมาอีกระลอก ค่าแอฟที (Ft) จะเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น"แน่นอนว่า ผู้บริโภคจะได้รับอานิสงส์ด้วยความเศร้าใจไปเต็มๆ"
แผนพลังงานแห่งชาติ กพช. PDP 2007 พ.ศ.2551-2564 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 โดยกำลังผลิตติดตั้ง ในปี 2551 อยู่ที่ 29,140 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีก 30,155 เมกะวัตต์ และปรับลดโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ออกจากระบบ 7,502 เมกะวัตต์
ทำให้เหลือกำลังผลิตสุทธิ 51,793 เมกะวัตต์
"ต้องถือว่าเป็นแผนพลังงานอัปยศ เป็นผลงานชิ้นโบดำที่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ควรจะยกเลิกไปโดยเร็วที่สุด" สารี ว่า
ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ แทนที่จะปรับลด...เลื่อนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆออกไป กลับยืนยันที่จะให้มีการเซ็นสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ใส่เข้าไปในระบบโดยไม่จำเป็น
โรงไฟฟ้าในระบบ 3 หมื่นเมกะวัตต์ สูงกว่าความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่แล้วถึง 7,300 เมกะวัตต์ ผู้ได้ประโยชน์จากแผนนี้หนีไม่พ้น ปตท.มี รายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้น
ก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงหลักไม่น้อยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
เหตุผลไฟฟ้าไม่พอใช้ ถ้าจริงก็คงไม่ต้องปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกไป สร้างเพิ่มใหม่อย่างเดียวก็พอ แล้วเหตุที่ต้องปลดออกพร้อมสร้างใหม่เป็นเพราะอะไรกันแน่?
ใคร?เอื้อประโยชน์ให้ใคร
หรือว่าเป็นเพราะมีผู้ใหญ่ระดับนโยบายพลังงานบางคน มีเอี่ยวเข้าไปนั่งเก้าอี้บริหาร บริษัท ปตท. และบริษัทสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนหลายแห่ง จึงทั้งผลักทั้งดันให้เกิดโรงไฟฟ้าใหม่ๆในแผนพลังงานฉบับนี้
การปลดโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ไม่ว่าโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าลานกระบือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี โรงไฟฟ้าหนองจอก โรงไฟฟ้าบางปะกง ถึงจะอ้างเหตุผลถึงเวลาอันควร คุณภาพเสื่อมถอย จะซ่อม ปรับปรุงก็ไม่คุ้มค่าก็ตาม
แต่...ทุกโรงก็เป็นเงินภาษีประชาชนที่สร้างขึ้นมา สารี บอกอีกว่า ก่อนหน้าที่แผนพีดีพีฉบับนี้จะได้รับความเห็นชอบ มีการเร่งรีบเซ็นสัญญาอย่างลับๆในปี 2551 กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ บริษัทสยาม อีเนอร์จี อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติพาวเวอร์เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี
สองโครงการนี้ บริษัท กัลฟ์จีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.9%
"ทั้งๆที่การใช้ไฟฟ้าชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และประชาชนในพื้นที่โครงการแสดงตัวคัดค้านจนเกิดความขัดแย้งรุนแรงในชุมชน... ที่สำคัญทั้งสองโครงการยังไม่ผ่านการเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ยังนำมาใส่ในแผน...ผลักโรงไฟฟ้าเงินภาษีประชาชนออกจากระบบต่อไป"
สารี ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้มากขนาดนั้น จะทำให้โรงฟ้าใหม่ที่สร้างขึ้น เป็นเพียงโกดังเก็บเครื่องปั่นไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน รับซื้อก๊าซจาก ปตท.ยังต้องจ่ายค่าซื้อไฟฟ้า...ค่าก๊าซธรรมชาติอยู่ต่อไป
"ด้วยเงื่อนไขสัญญาทาส เสียค่าโง่แบบผูกขาด ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย"
ค่าโง่...ทั้งหมดนี้ จะถูกผลักมาอยู่ในรูปค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ ท้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นประชาชนต้องรับผิดชอบ
ปตท.มีสิทธิ์คิด มีสิทธิ์ขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ 2.01 บาท หรือไม่?
สารี บอกว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ ปตท.ต้องคืนท่อก๊าซทั้งหมดให้กับรัฐ เนื่องจากได้มาด้วยการเวนคืนโดยอาศัยอำนาจรัฐ ถือเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดิน
แต่ ปตท.ทำการคืนทรัพย์สินเพียง 16,136.22 ล้านบาท ...ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 32,613 ล้านบาท เป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการแปรรูปเป็น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ขณะที่ ปตท.ประเมินต้นทุนค่าท่อเพื่อใช้ในการคำนวณขอขึ้นราคาค่าผ่านท่อสูงถึง 90,000 ล้านบาท...เป็นการประเมินเผื่อไว้สำหรับการต่อราคา แต่การขึ้นราคาค่าผ่านท่อก๊าซครั้งนี้ ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงถึงปีละ 4,500 ล้านบาท
"ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ อยู่ท่ามกลางแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจาก ปตท.ที่มีต่อก๊าซแอลพีจี เพื่อให้รัฐปล่อยลอยตัวตามราคาน้ำมัน"
ช่างแตกต่างสวนทางกับก๊าซเอ็นจีวี ปตท.ระบุชัดเจนในสูตรคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซจะทยอยปรับราคาขึ้นตามลำดับหากได้รับการอนุมัติ ก๊าซเอ็นจีวีจะขึ้นจาก 8.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นปีละ 1 บาท ต่อกิโลกรัม
วังวนมหากาพย์ก๊าซแอลพีจีเมืองไทยเป็นเช่นนี้ ปฏิเสธให้คิดไม่ได้ว่า มีใครตั้งใจหารับประทาน บนหลังคนไทยทั้งประเทศ.
ข้อมูลจาก นสพ.ไทยรัฐ 25 พ.ค. 2552