ใช้แอลพีจีพุ่ง

เมื่อวันที่  25  พ.ค.กรมธุรกิจพลังงาน  (ธพ.)  เปิดเผยปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มในเดือน   เม.ย.อยู่ที่  3.66  แสนตัน  แม้ลดลงเมื่อเทียบกับเดือน  มี.ค.อยู่ที่  3.87  แสนตันก็ตาม  แต่ในเดือน  เม.ย.มีวันหยุดจำนวนมากและมีเหตุการณ์การชุมนุมทำให้มีปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทั้งน้ำมันและก๊าซฯ  ลดลงด้วย  แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยเดือนละ  1  แสนตัน  และการใช้ในภาคขนส่งที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน  ซึ่งอาจทำให้การใช้ก๊าซหุงต้มในเดือน  พ.ค.น่าจะอยู่ในระดับ  4  แสนตัน

     สำหรับการใช้ก๊าซหุงต้มในเดือน  เม.ย.แยกเป็นการใช้ภาคครัวเรือน  1.71  แสนตัน  ภาคอุตสาหกรรม   3.81  หมื่นตัน  ปั๊มก๊าซหุงต้ม  5.45  หมื่นตัน  และปิโตรเคมี  1.02  แสนตัน  โดยกลุ่มที่ขยายตัวชัดเจน  คือ  ภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี  เนื่องจากเศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้นจากออเดอร์สินค้าทำให้โรงงานอุตสาหกรรมกลับมาเดินเครื่องผลิตสินค้าบางส่วน  นอกจากนี้ปัจจัยราคาน้ำมันที่มีทิศทางสูงขึ้นตามตลาดโลกและการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันทำให้แอลพีจีภาคขนส่งกลับมาขยายตัวเหมือนปีที่ผ่านมา  คาดว่าการนำเข้าในระยะถัดไปจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ยเดือนละ  6-8  หมื่นตัน  จากช่วงต้นปีอยู่ที่  2-4  หมื่นตันเท่านั้น  และบางเดือนอาจต้องนำเข้าถึง  1  แสนตัน

นายเมตตา  บันเทิงสุข  อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  ยอมรับว่า  การใช้ก๊าซหุงต้มมีโอกาสเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นใกล้ระดับ  30  บาทต่อลิตร  โดยเฉพาะเบนซิน  95  ที่ใกล้ระดับ  40  บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม  กรมธุรกิจพลังงานจะช่วย  ปตท.บริหารจัดการการเก็บสำรองก๊าซหุงต้มให้เพียงพอ  เพราะความสามารถของคลังก๊าซฯ  ที่เขาบ่อยามีข้อจำกัด  ซึ่งในระยะสั้นอาจต้องใช้คลังก๊าซฯ  ของภาคเอกชนช่วยจัดเก็บก่อน  แต่ในอนาคต  ปตท.ต้องขยายคลังเพื่อรองรับการนำเข้า.

นสพ.ไทยโพสต์ 25/5/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน