กฟผ.อ้อนอย่าลดเอฟทีหวังล้างหนี้อุ้มค่าไฟ3หมื่นล.

กฟผ. ลุ้นรัฐบาล ไม่ลดหรือตรึงค่าเอฟที รอบหน้าเดือน พ.ค. หวังทยอยล้างหนี้อุ้มค่าไฟ 1.9 หมื่นล้าน
นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2552 ว่า มีโอกาสปรับลดตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ลง แต่ในหลักการต้องพิจารณาภาระของกฟผ. จากการตรึงค่าไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา ที่ยังมียอดสะสมอยู่ 1.9 หมื่นล้านบาท ประกอบกับ
ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการคำนวณราคาเชื้อเพลิงในช่วงเดือน เม.ย.นี้ด้วย

ทั้งนี้ ได้รายงานไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ถึงภาระการตรึงค่าไฟฟ้าทราบแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณากำหนดค่าเอฟทีในแต่ละงวด ซึ่งหากราคาก๊าซมีแนวโน้มที่ลดลง และไม่มีการปรับลดค่าเอฟทีหรือใช้วิธีตรึงค่าเอฟทีต่อเนื่อง คาด ว่าจะใช้เวลาภายใน 2 ปี จะชดเชยภาระค่าเอฟทีได้ทั้งหมด โดยคำนวณเบื้องต้นค่าเอฟที 1 สตางค์ คิดเป็น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า 400 ล้านบาท

“ค่าเอฟทีในงวดหน้าหากดูจากราคาก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการ ผลิตไฟฟ้าปรับลดลงจาก 250 บาท/ล้านบีทียู มาอยู่ที่ 230 บาท/ล้านบีทียู ดังนั้นค่าเอฟทีมีโอกาสปรับลดลงได้ แต่อยากให้มองถึงภาระของกฟผ. ที่ได้เข้าไปอุ้มค่าเอฟทีในงวดก่อนๆ ที่ต้นทุนเชื้อเพลิงสูง โดยพยายามปรับค่าเอฟทีแต่ละงวดไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับผลกระทบมากเกินไป ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานและเรกูเลเตอร์ที่จะดูแล แต่ถ้าไม่ลดค่าเอฟทีก็จะสามารถลดภาระหนี้ให้กับกฟผ. ลงได้บ้าง” นายสมบัติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้กฟผ. จะมีภาระหนี้จากการตรึงค่าไฟฟ้า แต่ในภาพรวมไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน โดยสามารถบริหารจัดการได้ โดยในปี 2552 มีแผนออกพันธบัตรเพื่อนำมาใช้เสริมสภาพคล่องและการลงทุนวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว 1 หมื่นล้านบาท และออกพันธบัตรไปแล้ว 6,000 ล้านบาท โดยเตรียมจะออกจำหน่ายเพิ่มเติมในช่วงปลายเดือนมี.ค. จำนวน 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในสัปดาห์หน้าจะเสนอเข้าครม. เพื่อออกพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในช่วงนี้ เริ่มมีการขยายตัวหลังจากเดือนม.ค. การใช้ไฟฟ้าติดลบ ถึง 13% เดือนก.พ. ติดลบ 0.5% และช่วง 13 วันเดือนมี.ค. การใช้บวก 2% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการเคลื่อนไหว

- โพสต์ทูเดย์  20/3/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน