เปิดเทอมต้องปลอดภัย ขนส่ง-สพฐ.-ปภ. รับข้อเสนอองค์กรผู้บริโภค หนุนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นตัวชี้วัด ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเชิญร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่

ภาพข่าวเวทีรถรับส่งนร 01

องค์กรผู้บริโภคเสนอรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเป็นวาระของจังหวัดและเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียน ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ สพฐ. ขนส่ง รับข้อเสนอ เน้นย้ำความปลอดภัยช่วงเปิดเทอม ด้าน ปภ.ยินดีเชิญให้ร่วมพัฒนาแผนแม่บทฉบับใหม่

          เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดเวทีเสวนา บทเรียนและอนาคต ทิศทางรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ผ่านทางเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหารือถึงแนวทางและมาตรการที่จะจัดทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

          นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประสบอุบัติเหตุของรถรับส่งนักเรียนนั้นมักจะพบในข่าวบ่อยครั้ง และในข้อมูลสถิติพบว่าเกิดอุบัติเหตุจากรถรับส่งนักเรียนอย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง รวมถึงยังมีสถิติเรื่องของการลืมเด็กไว้ในรถที่เป็นประเด็นใหญ่ของสังคม ในเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย สสส. เข้ามามีบทบาทที่จะพยายามชักชวนให้เห็นปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง พัฒนาให้เกิดนโยบายสาธารณะ และหาผู้ที่เป็นเครือข่ายเกาะติดขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้ง 6 ภาค ก็ได้เข้ามาช่วยทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่พัฒนาผลักดันให้มีรถโรงเรียนที่มีความปลอดภัย ซึ่งการทำงานเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะควบคู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงโควิด โรงเรียนในหลายจังหวัดอาจเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ จึงต้องดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง ควบคู่กับการแพร่ระบาดของโควิด โดยสวมหน้ากากอนามัย ไม่รับประทานอาหารบนรถโรงเรียน รวมถึงการทำความสะอาดมือและรถ ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นเรื่องพื้นฐานทุกวัน รวมถึงอยากให้โรงเรียนต่างๆ ครู ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือช่วยกันดูแลในเรื่องนี้

ภาพข่าวเวทีรถรับส่งนร รุ่งอรุณ สสส 01

          นางสาวพวงทอง ว่องไว ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นกับการทำงานเรื่องรถรับส่งนักเรียน คือ 1. ต้องการให้เรื่องรถรับส่งนักเรียนเป็นตัวชี้วัดของโรงเรียนทุกแห่ง ถ้าทุกโรงเรียนทำจะทำให้มีมาตรฐานและแนวทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคมีรูปแบบการทำงานที่มีคู่มือ ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ 2. ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ให้รถทุกคันเข้ามาตรวจสภาพและขออนุญาตขนส่งทุกภาคเรียน 3. ผลักดันเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้เป็นวาระของระดับประเทศ จังหวัด และอำเภอ บางพื้นที่เข้าใจเรื่องอุบัติเหตุในจุดเสี่ยง หมวกกันน็อค แต่น้อยมากที่จะเข้าใจเรื่องรถรับส่งนักเรียน ดังนั้นความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน จึงไม่ใช่แค่รถจักรยานยนต์กับใบขับขี่ ความปลอดภัยจากการใช้รถรับส่งนักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรต้องให้คำนิยามที่ชัดเจนเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน

          สำหรับการพัฒนาแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคยินดีที่จะเข้าร่วมให้ข้อมูลกับทาง ปภ. เนื่องจากมีมิติมุมมองที่จะช่วยกันในระยะยาว และอยากชวนทุกหน่วยงานมาร่วมกันผลักดันให้ “รถรับส่งนักเรียน เดินทางไปกลับปลอดภัย อุบัติเหตุเท่ากับศูนย์” เป็นวาระการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาร่วมสร้างมาตรการป้องกันมากกว่าตามแก้ไขมาผนึกกำลังกันเพื่อขับเคลื่อนความปลอดภัยกับนักเรียน เป้าหมายอุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์เกิดขึ้นได้แน่นอน

          นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ขอเสนอข้อพิจารณาเรื่องรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เป็นทิศทางในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยอยากจะเห็นความชัดเจนใน 3 เรื่องนี้ คือ 1. โครงสร้าง ระบบจัดการ และระบบสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ งบประมาณ กฎระเบียบ/อำนาจหน้าที่ เอื้อให้ท้องถิ่นชุมชนเข้ามาจัดการ โดยแก้ไขนิยาม “การศึกษา” ให้รวมถึงการเดินทางมาศึกษาอย่างปลอดภัย และให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการกำหนดให้การจัดรถรับส่งนักเรียนเป็นภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระทำได้โดยตรง รวมทั้งสนับสนุนให้มีกลไกระดับท้องถิ่นในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่  2. ระบบข้อมูล เพื่อเฝ้าระวัง และสะท้อนความเสี่ยง โดยเฉพาะด้านคน พนักงานขับรถ สมรรถนะ เป็นต้น 3. เครือข่าย ความร่วมมือ กรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ ผู้ปกครอง ครู และนักเรียน รวมถึงด้านโครงสร้างการกำกับดูแลให้ไปถึงระดับอำเภอ ท้องถิ่น ถ้าทุกจังหวัดโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จังหวัด ดำเนินการเรื่องนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนได้

          นายธีร์ ภวังคนันท์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงการเปิดเทอมที่จะถึงว่า สพฐ. คำนึงถึงความปลอดภัยทั้งองค์รวมของกระบวนการที่จะต้องดูแลเด็กนักเรียน โดยในวันเปิดภาคเรียนการศึกษา วันที่ 1 พ.ย. 2564 หลักการที่เลขาธิการให้ในที่ประชุม คือ ต้องเปิดเทอม เพราะนักเรียนจะเสียโอกาส โดยที่เร่งรัดให้ฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข คือ ร้อยละ 85 จึงจะเปิดเทอมได้

          “ความปลอดภัยทางถนนยังเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อใกล้เปิดเทอมแล้ว สพฐ. จะแจ้งทีมงานให้มีข้อสั่งการเตรียมการเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น จะต้องระมัดระวังเรื่องการขนส่งมวลชนเป็นพิเศษ” นายธีร์กล่าว

          นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพวกเราต้องทำงานเป็นภาคีเครือข่ายมากขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กนักเรียน เราไม่ควรจะสูญเสียเด็กคนไหนไปอีกแล้วในระบบด้วยเหตุเหล่านี้ และสำหรับการทำตัวชี้วัดกับโรงเรียนที่องค์กรเพื่อผู้บริโภคเสนอมา ส่วนหนึ่งมีประเด็นนี้อยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้วแต่ยังไม่ชัด จึงอาจจะต้องใส่ในมาตรฐานเขตและโรงเรียน และเรื่องมิติในแผนของการปฏิบัติการ สพฐ. ฉะนั้นจะรับข้อเสนอไปหารือกับทางฝ่ายบุคลากร ในการปรับเงื่อนไขให้ชัดขึ้นอย่างไรบ้าง รวมถึงให้ความสำคัญกับการทำแผนของ สพฐ.

          ว่าที่ร้อยตรีหญิง นวลพร ไชยเดชกำจร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัย กรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงแนวทางแก้ไขว่า กรมการขนส่งทางบกจะบังคับใช้กฎหมายกับรถรับส่งนักเรียนที่ไม่มีใบอนุญาต และเข้มงวดกวดขันในพื้นที่ โดยกรมการขนส่งทางบกจะมีผู้ตรวจการออกตั้งด่านอยู่เป็นประจำ นโยบายทุกครั้งในช่วงเปิดเทอมก็จะมีการตั้งด่านในช่วงเช้าและช่วงเย็น เพื่อที่จะตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ผ่านการตรวจอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก และถ้าจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้นก็อาจจะขอความร่วมมือผู้ปกครองที่จะไม่สนับสนุนไปใช้รถเหล่านั้น หรือทางโรงเรียนที่จะจัดการขึ้นทะเบียนให้เป็นรถรับส่งของโรงเรียนนั้นๆ ก็ควรที่จะให้รถผ่านการตรวจสภาพ หรือได้รับการอนุญาตเป็นภาคเรียนจากกรมการขนส่งทางบกก่อน แม้กระทั่งการสื่อสารทำความเข้าใจในพื้นที่ เนื่องจากผู้ขับรถบางคนไม่เข้าใจ ส่วนมากทุกจังหวัดจะมีกลุ่มไลน์รถรับส่งนักเรียน อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์เข้าสู่ระบบของโรงเรียน

          นายวิทยา จันทน์เสนะ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในแผนพัฒนาแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุดภายในปี 2564 ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชนไว้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทฉบับที่ 5 ซึ่งจะมีระยะเวลาการทำงานระหว่างปี 2565–2570 โดยมีเป้าหมายผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ในร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้ด้วย และกำลังจะมีเวทีของการรับฟังความคิดเห็น จึงอยากเชิญทุกท่านให้เสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงระบบทั่วประเทศ และขอเชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน