ศาลตัดสิน กทม. จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้พิการ กรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการร่วมกันฟ้อง กทม. จัดสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายบนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส 23 สถานี ล่าช้ากว่า 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จตามคำสั่งศาล
จากกรณีที่ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. เมื่อปี 2550 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายใน 1 ปี (ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559) แต่จนถึงปี 2564 กทม. ก็ยังไม่สามารถดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้แล้วเสร็จได้ โดยเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว วันนี้ (15 กันยายน 2564) ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี
นายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ หรือ Transportation For All (T4A) กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. หรือพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. และต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน
เนื่องจากศาลมองว่า กทม. พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด 5 ปี แต่ประสบปัญหาต่างๆ เช่น ถูกร้องเรียนจากชุมชนว่าลิฟต์บังหน้าร้าน หาที่สร้างลิฟต์ไม่ได้ ทำให้ล่าช้าเป็นเวลา 5 ปี รอบแรกเติมลิฟต์ให้หนึ่งฝั่งกับสถานีที่ไม่มีลิฟต์เลย ปัจจุบันเติมลิฟต์ให้ครบสองฝั่งกับสถานีที่มีลิฟต์ฝั่งเดียว ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ศาลเห็นว่าผู้พิการที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากขนส่งสาธารณะได้ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้พิการ
“ดีใจที่ชนะคดี เพราะทราบปัญหาของ BTS มาตั้งแต่ ปี 2538 เป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วที่ต่อสู้เรียกร้องกันมา ช่วงแรกจะแพ้เป็นหลัก แต่หลังจากมีกฎหมายเรื่องคนพิการ จึงทำให้การต่อสู้มีน้ำหนักมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับค่าเสียหาย และได้ค่าเสียหายน้อยกว่าที่เรียกไป แต่ก็ประสบความสำเร็จ” นายสว่างกล่าว
ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2550 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ให้จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากขณะนั้นรถไฟฟ้าบีทีเอสมีลิฟต์เพียง 5 สถานี คือ หมอชิต สยาม สุขุมวิท อ่อนนุช แล้วก็ช่องนนทรี เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ผ่านไป 7 ปี ศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่า กทม.ไม่ผิด เพราะตอนที่ กทม.เซ็นคำสั่งก่อสร้าง ยังไม่มีกฎหมายคนพิการ จึงแพ้คดีไป
จนกระทั่งได้มีการอุทธรณ์อีก ปี 2558 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี แต่ กทม. ดำเนินการล่าช้า ไม่เป็นตามระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่งไว้ จึงไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยในศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้อง เนื่องจาก กทม.พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ไม่ได้มีเจตนาที่จะละเลยที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล เพียงแต่ว่าประสบปัญหาต่างๆ ทำให้การติดตั้งล่าช้า จึงยื่นอุทธรณ์อีกครั้งต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้คนพิการที่ได้รับความเดือดร้อน ได้รับค่าเสียหายจาก กทม.ในที่สุด