ศาลปกครองสูงสุด รับฟ้อง ‘คดีสัมปทานทางด่วน BEM’

news pic 07012021 BEMadmincourt

ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งรับคำร้อง กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้อง ครม. ต่อสัญญาทางด่วน BEM 15 ปี 8 เดือน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

           จากกรณีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยใช้เหตุผลว่า แลก 3 แสนล้านเพื่อยุติการฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ติดตามเรื่องดังกล่าว เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจน จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 โดยขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งเพิกถอนมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขอให้ศาลคุ้มครองการบังคับใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีและทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลพิจารณาคำขอคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษาโดยเร่งด่วนนั้น (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : ร้องศาลปกครอง มติครม. ต่อสัญญาทางด่วน BEM ขัดรธน.)

          ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ให้รับคำฟ้องและพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้เหตุผลว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทาน เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการแก้ไขสัญญามีผลทำให้โครงการทางด่วนที่เมื่อครบกำหนกระยะเวลาตามสัญญาจะต้องตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน ซึ่งมีผลกระทบต่อการบริการจัดการทางด่วน รวมถึงค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย และย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมด้วย

          นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้องและดำเนินคดีต่อไป ส่วนมาตรการการบรรเทาทุกข์ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะออกมาอย่างไร โดยส่วนตัวคาดหวังว่าศาลปกครองชั้นต้นจะมีมาตรการบรรเทาทุกข์ โดยให้ระงับการเก็บค่าทางด่วนไว้ก่อน หรือให้มีการบันทึกข้อมูลผู้ใช้ทางด่วนทุกคัน เพราะหากต่อมาศาลมีคำพิพากษาว่ามติของคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนมติดังกล่าว สัญญาต่อสัมปทานก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าผ่านทางและต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค แต่หากไม่มีมาตรการดังกล่าวแล้วคดีล่าช้าออกไป จะกลายเป็นว่า แม้จะชนะคดีประชาชนก็ไม่ได้ค่าผ่านทางคืนเพราะไม่รู้จะคืนใครเพราะไม่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้ทางด่วนเอาไว้ ก็จะกลายเป็นว่าคดีแม้จะชนะและถ้ายิ่งล้าช่าผู้ประกอบการก็จะยิ่งได้ประโยชน์โดยไม่มีอะไรต้องรับผิดชอบต่อผู้บริโภคเลย

          “หากผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะคดี ก็จะถือว่าเป็นการช่วยให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณะได้ง่ายขึ้นในราคาที่ถูกลง เพราะรัฐไม่มีต้นทุนอะไรแล้วนอกจากการบริหารจัดการและค่าซ่อมบำรุงเล็กน้อย อีกทั้งคดีดังกล่าวอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานและช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคกระตือรือร้นในการคุ้มครองสิทธิของตัวเองมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างสามัญสำนึกให้แก่ผู้ประกอบการได้” นายจิณณะกล่าว

          ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวอีกว่า กระบวนการต่อจากนี้ศาลจะให้เวลาผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การต่อสู้คดี โดยผู้ฟ้องคดีสามารถจะยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีได้ และจะกำหนดวันแถลงการณ์เปิดคดีเพื่อฟังการไต่สวน รับทราบประเด็นข้อพิพาท ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ที่ตุลาการผู้แถลงคดีเป็นผู้รวบรวมและสรุปมา หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงมีคำพิพากษาออกมา

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., ทางด่วน, BEM, สัญญาสัมปทาน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน