ศาลสั่งลงโทษ บ.ข.ส. และทายาทคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหม 20 กว่าล้านบาท ชดเชยญาติผู้เสียชีวิต คดีรถตู้จันทบุรี 25 ศพ
จากกรณี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร สาย จันทบุรี – กรุงเทพ หมายเลขทะเบียน 15-1352 กรุงเทพมหานคร พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมาอย่างรุนแรง จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทั้งหมด 14 ราย ส่วนผู้โดยสารในรถกระบะเสียขีวิต 11 ราย รวมมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย นำไปสู่การยื่นฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัด 2017 วีเจ ทรานสปอร์ต เป็นจำเลยที่ 1 นางสาววาสนา จันทร์เอี่ยม เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 3 กรณีละเมิด ต่อศาลจังหวัดจันทบุรี เรียกค่าเสียหาย รวมกว่า 30 ล้านบาท
ล่าสุด วันนี้ (4 ตุลาคม 2561) นายธนัช ธรรมิสกุล ผู้รับมอบอำนาจจากญาติผู้เสียชีวิตในการฟ้องคดี พร้อมด้วยนายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ผู้ดูแลคดี และโจทก์อีก 11 ราย ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิตอีก เดินทางไปยังศาลจังหวัดจันทบุรีเพื่อฟังคำพิพากษา
นายโสภณ กล่าวหลังจากการฟังคำพิพากษาว่า วันนี้ศาลจังหวัดจันทบุรีได้ตัดสินให้จำเลยที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 1 และ 2 คือ ทายาทของคนขับ ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงิน 20,780,000 บาท (ยี่สิบล้านเจ็ดแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) รวมทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด (2 มกราคม 2560) ส่วนสำคัญ คือ ศาลชั้นต้นได้กรุณากำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษกับโจทก์แต่ละราย รายละ 500,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าคนขับรถประมาท เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตของผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าทรัพย์สินเสียหายสูญหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และ 2 ศาลได้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่นายจ้างหรือตัวการตัวแทนที่ต้องรับผิดร่วมกับคนขับรถตู้คันเกิดเหตุ ซึ่งส่วนนี้ มพบ. จะมีการประชุมคดีเพื่อพิจารณาในการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป
“คำตัดสินในวันนี้ ถือเป็นบรรทัดฐานที่ดีในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก ในการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร” นายโสภณกล่าว
นางศศินันท์ สิทธิบุศย์ มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
นางศศินันท์ สิทธิบุศย์ มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กล่าวว่า สาเหตุที่มาฟ้องคดี เนื่องจากหลังการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว บริษัทไม่ได้เข้ามาสนใจดูแล หรือแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นเลย จึงตัดสินใจฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม โดยตลอดระยะเวลาตั้งแต่เกิดเรื่องจนถึงขั้นตอนการพิพากษานั้น รู้สึกว่าใช้ระยะเวลานานมาก แต่เข้าใจว่าขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาตัดสินนั้นต้องใช้ระยะเวลา และพึงพอใจกับคำตัดสินในระดับหนึ่ง
นางเสงี่ยม หินอ่อน มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
นางเสงี่ยม หินอ่อน มารดาของหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ กล่าวว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ลูกสาวเสียชีวิต การใช้ชีวิตก็ลำบากมากขึ้น เพราะจะต้องเลี้ยงลูกของลูกสาว และในบางวันก็จำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยง วันละ 200 บาท เพราะต้องไปทำงานที่สวนยาง ด้วยเหตุนี้ทำให้ตัวเองเข้ามาร่วมฟ้องคดีดังกล่าวกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
“หากลูกสาวอยู่น่าจะมีรายได้มากกว่านี้ แต่พอลูกสาวเสีย เราก็เหมือนจะหมดทุกอย่างไปเลย อีกอย่างแม้ว่าจะผ่านมานานแล้ว แต่ก็ยังคิดถึงเขาอยู่เสมอ เมื่อลูกเขาเข้าไปเห็นรูปของแม่ เขาก็ถามว่าแม่ไปไหน เราก็ได้แค่บอกไปว่า แม่ไปสวรรค์นะ” นางเสงี่ยมกล่าวและว่า หลังจากฟังคำพิพากษาของศาลก็เกิดความรู้สึกว่าเงินชดเชยที่ได้รับมาไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ แต่ก็ยอมรับได้ตามคำสั่งศาล ส่วนเงินที่ได้นี้ก็จะนำไปใช้เป็นเงินเก็บไว้เลี้ยงดูลูกของลูกสาวในอนาคตต่อไป