กระทรวงพลังงาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ด้วยความมุ่งหมายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ต้องการจะรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานกว่า ๒๐ หน่วยงาน ๙ กระทรวงให้เกิดเอกภาพภายในการบริหารจัดการงานด้านพลังงานอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัดและถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการด้านพลังงาน จัดหาพลังงาน พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน กำหนดมาตรการ กฎ ระเบียบ และกำกับดูแล ควบคุม การดำเนินงานด้านพลังงาน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน การจัดหาพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน และที่สำคัญต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๕ เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานปรากฏในส่วนที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามมาตรา ๘๔ (๑) (๒) (๕) (๑๐) และ (๑๑) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
มาตรา ๘๔ (๑) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
มาตรา ๘๔ (๒) สนับสนุนให้มีการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการประกอบกิจการ
มาตรา ๘๔ (๕) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค
มาตรา ๘๔ (๑๐) จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจ และต้องมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อความเสียหายแก่รัฐ
มาตรา ๘๔ (๑๑) การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้
ในการจัดตั้งกระทรวงพลังงานได้มีการนำรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ มาสังกัดกระทรวงพลังงาน แต่ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพลังงานมิได้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการของบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างใหญ่หลวงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
๑. นับแต่ ปตท. ถูกแปรรูปกลายเป็นบริษัทมหาชนจำกัด กระทรวงพลังงานมิได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี มีความเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดที่แท้จริงแต่อย่างใด ปล่อยให้มีการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการให้สิทธิแก่บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ผูกขาดการจัดหา และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวของประเทศโดยไม่มีการแข่งขัน ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และของโรงไฟฟ้าเอกชน มิได้เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง แต่เป็นไปตามการสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่กระทรวงพลังงานกำหนด ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าราคาก๊าซที่บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) จำหน่ายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจในกลุ่มของตน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในราคาที่สูงเกินควร
๒. ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำตัดสินในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนการแปรรูปบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ว่า การที่ ปตท. ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว จึงไม่ได้มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป พิพากษาให้ ปตท. ต้องคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงท่อส่งน้ำมัน คืนให้แก่รัฐทั้งหมด เพราะถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน จะให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไม่ได้ แต่จนถึงปัจจุบันปรากฏหลักฐานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ยังดำเนินการคืนทรัพย์สินไม่ครบโดยเฉพาะท่อส่งก๊าซทางทะเล นอกจากกระทรวงพลังงานจะไม่ดำเนินการติดตามตรวจสอบการคืนทรัพย์สินให้ครบแล้ว กระทรวงพลังงานยังกำหนดสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติโดยยอมให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซได้ใหม่เสมือนว่า ท่อส่งก๊าซยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ซึ่งขัดกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซที่ได้จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินเพิ่มขึ้นอีกด้วย
๓. ระบบท่อส่งก๊าซถือเป็นระบบที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมดูแลโดยตรง การละเลยของกระทรวงพลังงานเช่นนี้ ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) กลายเป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการก๊าซธรรมชาติแบบผูกขาดโดยไม่มีคู่แข่งทั้งธุรกิจการจัดหา การให้บริการท่อส่งก๊าซ การแยกก๊าซ และการจัดจำหน่าย ปตท. จึงสามารถกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งที่การกระทำดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ปรากฏว่าข้าราชการที่เข้าไปเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนของรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะมีการคัดค้านหรือกำกับดูแลให้บริษัทต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ
๔. กระทรวงพลังงานปล่อยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการโรงกลั่นน้ำมัน ๕ แห่งจากที่มีโรงกลั่นขนาดใหญ่ในประเทศทั้งหมด ๖ แห่ง ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอย่างแท้จริง ขณะที่ กระทรวงพลังงานมิได้พยายามแก้ปัญหานี้ แต่กลับกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นการสร้างกลไกตลาดเทียม ที่ไม่ได้อิงอุปสงค์อุปทานภายในประเทศแต่อย่างใด
๕. กระทรวงพลังงาน ยอมให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากประชาชนไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีที่เป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี และทำการโฆษณาที่เป็นเท็จกล่าวหาผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้แอลพีจีว่าเป็นสาเหตุทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่พอเพียงและพยายามให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีกับภาคประชาชน การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้ภาคปิโตรเคมีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน มิใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชน ผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย
ปัญหาดังที่กล่าวมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่ขาดธรร-มาภิบาล โดยพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงานหลายตำแหน่ง เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการในธุรกิจของเอกชนด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินโบนัส ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่อิงกับผลกำไรของธุรกิจพลังงานนั้น อีกทั้งยังมีการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น อันเป็นการดำเนินกิจการต้องห้ามตามความในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ รายละเอียดตามตารางข้างท้าย
เพื่อป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน ๓,๑๘๖ คน ใคร่ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เร่งพิจารณากำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มเติมโดยเร็ว คือ
๑. ปลัดกระทรวงพลังงาน
๒. รองปลัดกระทรวงพลังงาน
๓. อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
๔. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน
๕. อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ
๖. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
ตารางแสดงการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล
และประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงาน (ช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕)
เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงาน |
ตำแหน่งในบริษัทเอกชน |
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ตำแหน่งสำคัญและหน้าที่เกี่ยวข้อง ประธานกรรมการปิโตรเลียม -ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทาน กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ -กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน -เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้า Ft กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประธานกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV ประธานอนุกรรมการพิจารณาการชดเชยราคา NGV ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ประธานอนุกรรมการเอทานอล ประธานอนุกรรมการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ กรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน ประธานกรรมการติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน |
ประธานบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)
ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๕๒๙,๐๐๐ บาท โบนัส ๒,๒๒๓,๒๘๗ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๗๕๓,๒๐๗ บาท |
ประธานกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ผู้รับสัมปทานสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๘๕๐,๐๐๐ บาท โบนัส ๒,๔๓๒,๕๑๗ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๓,๒๘๒,๕๑๗ บาท |
|
กรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) โรงกลั่นน้ำมัน กำลังผลิต ๒๗๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๘๐,๐๐๐ บาท โบนัส ยังไม่ได้ รวมรับทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท (เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ พ.ย.๒๕๕๔) |
|
กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๒๑๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย ลาออกเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔ ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๕๔๐,๐๐๐ บาท โบนัส ๑,๙๓๗,๘๘๘ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๔๗๗,๘๘๘ บาท |
|
นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หากได้รับมอบหมาย) ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (หากได้รับมอบหมาย) ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (หากได้รับมอบหมาย) กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
|
กรรมการอิสระบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๑๗๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนกรรมการเดือนละ ๑๓๓,๓๓๔ บาท รวมตลอดปี ๒๕๕๔ ได้รับทั้งสิ้น ๑,๖๐๐,๐๐๘ บาท |
ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH) รับซื้อเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้า และจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. ได้รับโบนัสของปี ๒๕๕๓ รวม ๒๖๕,๒๐๕ บาท |
|
นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หากได้รับมอบหมาย) ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (หากได้รับมอบหมาย) ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (หากได้รับมอบหมาย) |
กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๒๑๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย เข้าเป็นกรรมการเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนถึงสิ้นปี ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๒๔,๖๗๗ บาท |
นายทรงภพ พลจันทร์ กรรมการปิโตรเลียม |
กรรมการบริษัท ปตท เคมิคอล จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจร ปัจจุบันถูกควบรวมกิจการเป็นบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) |
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน อนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รองประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า อนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ กรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน อนุกรรมการเอทานอล |
กรรมการบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศไทย ๒๘๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุมและเงินเดือนรวมทั้งสิ้น ๑๖๐,๙๖๘ บาท |
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ประธานกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว รองประธานกรรมการติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ กรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV อนุกรรมการเอทานอล |
กรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. เป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยและต่างประเทศ จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสทให้แก่ ปตท. ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๑,๑๔๓๗๕๐ บาท โบนัส ๒,๖๒๒,๙๕๑ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๓,๗๖๖,๗๐๑ บาท |
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ อนุกรรมการเอทานอล อนุกรรมการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ |
กรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๗๗๗,๕๐๐ บาท โบนัส ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๗๗๗,๕๐๐ บาท
ประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ที่มีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของประเทศไทย มีกำลังการกลั่น ๑๒๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๖๗๕,๐๐๐ บาท โบนัส ๑,๔๔๗,๕๗๔ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๑๒๒,๕๗๔ บาท |
ที่มา : ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ จาก http://www.eppo.go.th/nepc/subcom/index.html
ตำแหน่งในธุรกิจด้านพลังงานและผลประโยชน์ตอบแทน จาก รายงานแบบ ๕๖-๑
ประจำปี ๒๕๕๔ ของแต่ละบริษัท
รวบรวมข้อมูลโดย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค