วันนี้ ( 29 ต.ค. 2555) องค์กรเครือข่ายผู้บริโภค ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขอให้เพิ่ม 6 ตำแหน่งข้าราชการกระทรวงพลังงานไว้ในมาตรา 100 ของกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ห้ามบุคคลเหล่านี้ดำรงดำแหน่งในบริษัทเอกชน เนื่องจากเห็นว่า ปัญหาความไม่เป็นธรรมในราคาไฟฟ้าและพลังงาน มาจากความทับซ้อนในผลประโยชน์ของข้าราชการกลุ่มดังกล่าว
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำรายชื่อประชาชนกว่า 3,000 รายชื่อ และหนังสือเรียกร้องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาศัยอำนาจในมาตรา100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มเติม 6 ตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงพลังงาน รองปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านี้เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะกรรมการของธุรกิจเอกชนด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุม และตรวจสอบของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้ง 6 ตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกัน รูปแบบขององค์กรระหว่างเอกชนกับรัฐมีความขัดแย้งในผลประโยชน์ กระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนและสาธารณะ จากการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่ไม่เป็นธรรม
“นอกจากรายชื่อประชาชนแล้วองค์กรเครือข่ายด้านผู้บริโภคยังแนบข้อมูลของข้าราชการทั้ง 6 ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งสำคัญในหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างหน่วยงานรัฐกับบริษัทเอกชนด้านพลังงาน อำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อน หรือ ค่าตอบแทน เพื่อประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช. ขณะที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ก็ได้ส่งเรื่องและข้อมูลลักษณะเดียวกันนี้ ให้กับ ป.ป.ช.ตรวจสอบเช่นเดียวกัน โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจำลอง ต่อการให้ความเห็นและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งตามมาตรา 61 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แม้ว่าปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลให้เกิดขึ้น แต่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ” นางสาวบุญยืน กล่าว
ซึ่งในวันนี้นายสุชาติ ฉิมน้อย ผู้อำนวยการสำนักการข่าว และกิจการพิเศษ ป.ป.ช.ได้ออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าว และจะนำไปเสนอกับคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป
จดหมายยื่น ปปช.