นาย ณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือน เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีหลังจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตทำการสำรวจข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการจัด ทำมาตรการ
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า ภายในเดือนเมษายนนี้รัฐบาลจะเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีเลยหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องดูความพร้อมของมาตรการช่วยเหลือก่อนและต้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน แห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือจะต้องรอประเมินจากผลสำรวจก่อน
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล กล่าวถึงผลการส่งทีมลงพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อสำรวจจำนวนร้านค้า หาบเร่ แผงลอย และผู้ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยเหลือผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีว่า คาดว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้จะสรุปเบื้องต้นได้ โดยล่าสุดมีผู้ตอบแบบสอบถามแล้ว 99,354 ราย โดยความเห็นเกี่ยวกับราคาและมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาช่วยเหลือลดผลกระทบกับ ผู้มีรายได้ต่ำ ส่วนใหญ่ยอมรับว่าหากเลือกได้ไม่ต้องการขึ้นราคา แต่ถ้าจำเป็นต้องการให้รัฐดูเรื่องของคูปองและบัตรเครดิตเพื่อเป็นส่วนลด ราคาซื้อแอลพีจี หรือมาตรการอื่นที่รัฐเห็นว่าจะช่วยได้รวดเร็วจริงๆ
นายสุขุมกล่าวว่า จากผลสำรวจมีผู้ใช้แอลพีจีรวม 6,572,951 กิโลกรัม (กก.) แยกเป็นกว่า 80,000 ราย ใช้ถังขนาด 15 กก. ที่เหลือประมาณ 6,000 ราย ใช้ถังปิกนิก 4 กก. เมื่อแบ่งผู้ใช้ออกเป็นกลุ่ม พบว่าเป็นร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ประมาณ 91,487 ราย บ้านที่ไม่มีไฟใช้ประมาณ 73 ราย บ้านที่ใช้ฟืนและถ่านหุงต้มประมาณ 3,606 ราย กลุ่มที่กรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนและไม่ยินดีให้ข้อมูลอีก 4,188 ราย "ข้อมูลนี้ยังไม่รวมพื้นที่ กทม.ที่อยู่ระหว่างสำรวจ เพราะติดภารกิจการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา"
ที่มา:มติชนรายวัน 21 มี.ค.2556