รายงานพิเศษ : ถึงเวลาทุบกำแพงความไม่ไว้วางใจ ยกระดับ“พลังงานไฟฟ้า”เป็นวาระแห่งชาติแนวหน้า

สถานการณ์โลกปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากทรัพยากรธรรมชาติ ที่หร่อยหรอลง และส่งผลกระทบเข้าใกล้ตัวเรามายิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาที่ชัดเจนและสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งในเวลานี้ คือ “วิกฤติไฟฟ้าและพลังงาน”

ยิ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้น ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็ยิ่งสูงขึ้น โดยประมาณการณ์กันไว้ว่าแต่ละปีไทยมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,200 เมกะวัตต์ ทำให้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือที่เรียกกันว่าแผน PDP ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 3 (2555-2573) ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ต้องตั้งเป้าให้ ภายในปี 2573 ประเทศไทยควรผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ที่ 16.2% เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการใช้ หรือเท่ากับว่าต้องมีกำลังการผลิตประมาณ 55,065 เมกะวัตต์

ขณะที่ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 34,265 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าของ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 44% ส่วนที่เหลือมากจากโรงไฟฟ้าเอกชน 49% และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 7%

ดังนั้นโจทย์ข้อแรกของประเทศไทยสำหรับการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในเวลานี้ คือ ความจำเป็นต้องมีแหล่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม หรือพูดตามภาษาชาวบ้าน คือ เราจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ขณะที่โจทย์ข้อต่อมา คือ แล้วเราจะใช้แหล่งพลังงานหรือเชื้อเพลิงใดมาผลิตไฟฟ้า?

เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทย เป็นการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูงถึง 70% ซึ่งการต้องพึ่งพาการผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติสูงเช่นนี้ ถือเป็นภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติอย่างมาก เนื่องจากแหล่งพลังงานดังกล่าวทั่วโลก นับวันยิ่งหร่อยหรอลงไปทุกที

โดย นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการ กิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวระหว่างนำสื่อมวลชนเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ของญี่ปุ่น 3 แห่ง เมื่อวันที่ 6-12 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า วิกฤติพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะภายใน 15-20 ปีข้างหน้า แหล่งเชื้อเพลิงในอ่าวไทยจะหมดลง จึงมีความจำเป็นต้องหาพลังงานอื่นๆ มาผลิตไฟฟ้า หากทำไม่ได้ ก็ต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้ ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ดังนั้นเมื่อกลับมาสู่คำถามว่า การพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าของไทย ควรเลือกผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานใด ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. ก็เคาะคำตอบออกมาว่า แนวทางที่ กฟผ. วางเอาไว้เป็นทางเลือก คือ การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนำเข้า, พลังงานก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ พลังงานนิวเคลียร์ โดยมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินนำเข้าเป็นธงนำ เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตโดยก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากถ่านหินมีต้นทุนต่อหน่วยเพียง 2.36 บาท และมีปริมาณสำรองให้ใช้ได้มากถึง 200 ปี ขณะที่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิม่าประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้ก็ถูกเลื่อนออกไป

ส่วนพลังงานหมุนเวียน จากพลังงานน้ำ พลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวลนั้น นายพงษ์ดิษฐชี้ว่า ยังเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่แน่นอนว่า จะสามารถให้กำลังผลิตได้เพียงพอและต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนการผลิตสูง โดยไฟฟ้าจากพลังงานลมมีต้นทุนหน่วยละ 5-6 บาท พลังงานแสงอาทิตย์ 8-10 บาท ขณะที่ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 3.20 บาท ถ่านหินนำเข้า 2.36 บาท และนิวเคลียร์ 2.30 บาท

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่า อุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ของประเทศไทย คือ การต่อต้านของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายการก่อสร้าง โดยทุกครั้งที่มีข่าวการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในพื้นที่ใด สิ่งที่ตามมา คือ การลุกฮือขึ้นมาต่อต้านของชุมชน พร้อมกับเหตุเรื่องปัญหามลภาวะตลอดเวลา ซึ่งนี่ถือเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไว้วางใจที่มีต่อภาครัฐได้ เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้ทุกวันนี้ จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดขึ้นมาใช้ในการกำจัดปัญหามลพิษที่เกิดจาก การเผาไหม้ของถ่านหินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์

รวมทั้งในการเดินทางไปศึกษาดูงานโรงงานไฟฟ้า 3 แห่งของญี่ปุ่น ประกอบด้วย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ ที่เมืองฟุกุชิมะโรงไฟฟ้าถ่านหินมัตซูอุระ เมืองนางาซากิ และโรงไฟฟ้าถ่านหินอิโซโกะ เมืองโยโกฮามา ซึ่งแต่ละแห่งสามารถนำมาใช้เป็น “โมเดล” ในการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแต่ละแห่งต่างมีระบบการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชน ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ดักจับเขม่า ควันพิษ มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพ และระบบป้องกันภัยต่างๆ ทำให้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นใจกลางชุมชนหรือพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชนได้ โดยไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา

แต่ภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้หรือไม่ เพราะระหว่างภาครัฐ กฟผ. และชุมชน ยังคงมีกำแพงแห่งความไม่ไว้วางใจขวางกั้นอยู่ ท่ามกลางความรุนแรงของวิกฤติพลังงานที่งวดเข้ามามากขึ้น

“แนวคิดในการแก้ปัญหาของเรา คือ ต้องยกระดับเรื่องพลังงานไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ” นาย พงษ์ดิษฐ ให้ความเห็นพร้อมกับสำทับว่า “ทุกฝ่ายต้องหาข้อยุติเรื่องพลังงานหลักและพลังงานหมุนเวียนว่า เราจะเลือกอะไรที่สังคมรับได้มาเป็นพลังงานหลัก ก๊าซ ถ่านหิน หรือนิวเคลียร์ และต้องมีการวางมาตรการต่างๆ รองรับเพื่อให้สังคมมั่นใจว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหลักจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ มีการโซนนิ่งเขตอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า จัดหาที่ดิน และยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องขึ้นมา”

ที่สำคัญรัฐบาลสมควรต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือร่วมกับ กฟผ. ในการทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เอาจริงเอาจัง และคุยกันด้วยข้อเท็จจริง

หาไม่แล้วบทสรุปการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของไทย ก็คงต้องวนเวียนย่ำเท้าอยู่ที่เดิม!

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน