จากเหตุการณ์กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ รถบรรทุก รถร่วมบริการ ออกมาชุมนุมคัดค้านการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีจากกิโลกรัมละ 8.50 บาท เป็น 14.50 บาท ที่หน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2555 โดยมองว่าราคาต้นทุนเนื้อก๊าซที่ ปตท. หยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างไม่ใช่ราคาที่แท้จริง แต่เป็นราคาที่บวกกำไรเข้าไปแล้ว และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี
ซึ่งเรื่องนี้ “ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ได้ตอบคำถามไปแล้ว (อ่าน “ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ชู CSR “Care-Share-Respect”)
ขณะที่ “น.ส.รสนา โตสิตระกูล” สมาชิวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเสมือนไม้เบื่อไม้เมาของ ปตท. ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้ติดตามกรณีการผูกขาดที่เกิดขึ้นกับกิจการด้านพลังงานมาอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่มีการแปรรูป ปตท. จนถึงปัจจุบัน การบริหารกิจการด้านพลังงานวันนี้มีพัฒนาการไปไกลแค่ไหน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ เหตุใดกลไกภาครัฐจึงไม่ค่อยจะทำงาน จนเกิดเหตุการณ์ม็อบปิดถนน
ไทยพับลิก้า : การตรึงราคาเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 8.50 บาท ทำให้ ปตท. ขาดทุนปีละ 4 หมื่นล้านบาท ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้วเรื่องโครงสร้างราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี มันขึ้นอยู่กับ ปตท. เป็นผู้กำหนดว่าราคามันควรจะเป็นเท่าไหร่ สังคมตรวจสอบค่อนข้างยาก ข้อมูลก็ไม่ค่อยเปิดเผย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการผูกขาดตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำ ปตท. มีบริษัทลูกทำกิจการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม กำไรประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนธุรกิจกลางน้ำก็มีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ แต่พอมาถึงธุรกิจปลายน้ำของ ปตท. ปรากฏว่าขาดทุน เพราะราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซที่ ปตท. ไปรับมาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.39 บาท ยังไม่นับรวมค่าขนส่ง แต่ผู้บริหารของ ปตท. เคยบอกว่าราคานี้เป็นราคาเดียวกันกับที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ง ประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ราคาต้นทุน แต่เป็นราคาที่บวกกำไรเข้าไปแล้ว
แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติของ ปตท. จะมีอยู่ 2 แหล่งใหญ่ๆ ทำให้การคำนวณราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีของ ปตท. ต้องแบ่งออกเป็น 2 พูล (pools) ตามแหล่งก๊าซธรรมชาติ คือราคาพูลที่ 1 เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ส่งให้โรงแยกก๊าซซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ส่วนราคาพูลที่ 2 เป็นก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศพม่า ผ่านระบบท่อก๊าซมี 2 แหล่ง คือ เยดานา กับ เยดากุน และยังมีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือที่เรียกว่า “แอลเอ็นจี” ราคาก๊าซพูลที่ 2 จึงมีราคาแพงมากกว่าพูลที่ 1 ซึ่ง ปตท. ขายก๊าซให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี ความหมายคือ คนไทยทั้งประเทศใช้ก๊าซเอ็นจีวีในราคาพูลที่ 2 เป็นราคาก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคากิโลกรัมละ 8.39 บาท หรือกิโลกรัมละ 9 บาท (ไม่นับรวมค่าขนส่ง) ขณะที่บริษัทลูกของ ปตท. ใช้ก๊าซอ่าวไทย เป็นราคาพูลที่ 1 ซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่ ปตท. ไม่เคยเปิดเผย
กรณีราคาเนื้อก๊าซเอ็นจีวีมีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.39 บาท ถือว่าแพงมาก สาเหตุมี 2 ประการ คือ 1. อาจจะมาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ 2. อาจจะมีการโอนถ่ายกำไรไปให้บริษัทลูก (transfer price) เพื่อให้บริษัทแม่ (ปตท.) ซื้อก๊าซในราคาแพง และเมื่อนำออกไปขายก็ขาดทุน จากนั้นมาขอรับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็มีความเป็นไปได้ เพราะธุรกิจก๊าซไม่มีคู่แข่งขัน ขายกันอยู่เจ้าเดียว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก จะราคาเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ
ปี 2554 ปตท. บอกว่าต้นทุนเนื้อก๊าซกิโลกรัมละ 8.39 บาท ต้นทุนค่าขนส่งกิโลกรัมละ 5.56 บาท นี่คือโครงสร้างราคาเอ็นจีวีที่ ปตท. นำมาแสดงต่อสาธารณะครั้งแรก ต่อมาในช่วงต้นเดือนมกราคม 2555 ปตท. ชี้แจงโครงสร้างราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีเป็นครั้งที่ 2 ระบุว่าราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 9 บาท เมื่อรวมกับค่าขนส่งแล้วทำให้ราคาขายปลีกเอ็นจีวีอยู่ที่กิโลกรัมละ 15.58 บาท ไม่แน่ใจว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ เพราะการบริหารต้นทุนเนื้อก๊าซขึ้นอยู่กับ ปตท. เป็นผู้กำหนด
ไทยพับลิก้า : โครงสร้างราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. นำมาแสดงมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
ข้อมูลโครงสร้างราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. นำมาเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555 ยังไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง เอกสารที่ ปตท. นำมาแสดงบอกแค่หลักการในการคำรวณราคาต้นทุนเท่านั้น ซึ่งประชาชนไม่ต้องการทราบหลักการหรือแนวคิด แต่ต้องการทราบว่าก๊าซที่ซื้อมาจากพม่าต้นทุนเท่าไหร่ อ่าวไทยเท่าไหร่ และแอลเอ็นจีเท่าไหร่ ทราบแต่ว่ารวมกันแล้วกิโลกรัมละ 9 บาท บวกกับค่าขนส่งอีก 5.56 บาท รวมทั้งหมดแล้วอยู่ที่ 15.56 บาทต่อกิโลกรัม
ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมา ปตท. เคยแจกแจงราคาต้นทุนเนื้อก๊าซแต่ละพูลหรือยัง
เท่าที่ทราบยังไม่เคยแจกแจงราคาเลย และนี่คือเหตุผลที่คณะอนุรรมการธิการฯ ต้องไปนำราคาก๊าซจากต่างประเทศ อย่างเช่น เฮนรี่ฮับ มาเปรียบเทียบ ปตท. ขายอยู่เจ้าเดียว ขณะที่ผู้บริหารของ ปตท. ชี้แจ้งว่า ใช้ราคาที่ตลาดเฮนรี่ฮับมาเปรียบเทียบไม่ได้ เพราะ ปตท. ไม่ได้ซื้อก๊าซมาจากที่นั่น แต่ข้อเท็จจริงคือราคาก๊าซที่ตลาดเฮนรี่ฮับเป็นราคาอ้างอิงของตลาดโลก เช่นเดียวกับที่ตลาดไนเม็กซ์ ซึ่งตลาดราคาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติที่นั่นมีราคาถูกกว่าเมืองไทยมาก อย่างเดือนธันวาคม 2554 เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 3.37 บาท แต่ ปตท. รับซื้อก๊าซที่กิโลกรัมละ 8-9 บาท
ไทยพับลิก้า : ฟังดูแล้วก๊าซเอ็นจีวีของไทยที่ราคา 8.50 บาทไม่ได้ถูกอย่างที่คิด
ถูกต้อง หากพิจารณาเฉพาะต้นทุนของเนื้อก๊าซ ราคาก๊าซในเมืองไทยสูงเกินไป และจากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้าง ธรรมาภิบาล วุฒิสภา พบว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญของโลกมีอยู่ 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเฮนรี่ฮับ, แหล่งเอเอ็นอาร์ เซาธ์อีสท์, แหล่งโคล กัลฟ์ออนชอร์ และแหล่งโคลเมนไลน์ ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ จึงทดลองใช้ราคาในตลาดสหรัฐมาเปรียบเทียบกับราคาที่ ปตท. ซื้อปากหลุมก๊าซอ่าวไทย
ถ้าดูจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2546-2551 ปรากฏว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ซื้อ-ขายในตลาดโลกทุกแห่งมีราคาแพงกว่าราคาก๊าซ ที่ ปตท. ซื้อจากปากหลุมทั้งหมดประมาณ 40-67% (ดูเพิ่มเติม “รสนา”ใช้กลไกศาลปกครอง ไล่บี้ต้นทุนเอ็นจีวีต่อ ปตท. แจงราคาปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู”) ดังนั้น ราคา ปตท. ที่ ปตท. ซื้อมาจากปากหลุมอ่าวไทยมีราคาถูกกว่าตลาดโลก แต่ข้อมูลที่ ปตท. นำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นอีกราคาหนึ่ง คือ 9 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ทราบว่ามีที่มาอย่างไร หากชี้แจงออกมาให้ชัดเจนก็ไม่ต้องมาโต้เถียงกันแบบนี้
ไทยพับลิก้า : นอกจากราคาต้นทุนเนื้อก๊าซแล้ว ยังมีค่าขนส่ง 5.56 บาท ราคานี้สมเหตุสมผลหรือไม่
หน่วยงานที่คำนวณราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซให้กับ ปตท. คือ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าราคาก๊าซที่ตลาดเฮนรี่ฮับถูกกว่าเมืองไทยจริง แต่เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นราคาก๊าซที่ขนส่งผ่านระบบท่อก๊าซ ไม่ได้ขนส่งโดยรถบรรทุก นั่นแสดงว่าการขนส่งก๊าซผ่านระบบท่อมีราคาต้นทุนถูกกว่าขนส่งทางรถ แล้วทำไม ปตท. ไม่ขนส่งผ่านระบบท่อ
ไทยพับลิก้า : ปั๊มนอกแนวท่อต้นทุนสูงกว่าปั๊มที่อยู่ในแนวท่อ ทำไมคิดราคาเดียวกัน
นั่นสิ ปตท. มีปั๊มอยู่ตามแนวท่อ 104 แห่ง นอกแนวท่อ 349 แห่ง แต่คิดราคาเดียวกัน เพราะว่า ปตท. นำต้นทุนมาถัวเฉลี่ยกัน ตรงนี้เป็นประเด็นที่สังคมต้องตั้งคำถาม อย่างพลังงานทดแทนในต่างประเทศต้องแข่งขันกัน ขณะที่เมืองไทยไม่มีการแข่งขันกันเลย ก๊าซทั้งระบบถูกผูกขาด นี่คือสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนราคาของเอ็นจีวีแพงเกินความเป็นจริง
ไทยพับลิก้า : โครงการสนับสนุนให้รถยนต์แอลพีจีเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีมีที่มาอย่างไร
เรื่องของเรื่องคือ รัฐบาลไม่อยากจะให้ประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจี หากย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นยุคโชติช่วงชัชวาล เราค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นจำนวนมาก ตอนนั้น ปตท. ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ถึงแม้จะให้ต่างชาติมารับสัมปทานขุดเจาะก๊าซไปในราคาถูกแต่ก็ยังได้กำไรอยู่ ตอนนั้นยังไม่มีโรงกลั่น ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป รัฐบาลจึงใช้กำไรจากก๊าซมาถัวเฉลี่ยกับราคาน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันแพงเกินไป แต่หลังที่ ปตท. เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ไม่สามารถใช้กำไรจากธุรกิจก๊าซมาเกลี่ยกับต้นทุนราคาน้ำมันได้อีก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่าก๊าซในอ่าวไทยมีปริมาณมากเพียงพอกับความต้องการใช้ ภายในประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงตรึงราคาก๊าซแอลพีจีเอาไว้ที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก ต่อมา บริษัทปิโตรเคมี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ขยายกำลังการผลิตเต็มที่ จึงมีความต้องการใช้แอลพีจีเพิ่มมากขึ้น ก๊าซโพรเพนกับบิวเทนที่ได้จากโรงแยกก๊าซ เมื่อนำมาผสมกันแล้วจะได้แอลพีจี ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือส่งไปขายในต่างประเทศ เพราะสร้างผลกำไรให้กับกลุ่มบริษัทของ ปตท. 9-20 เท่าตัว แต่ถ้าขายให้ภาคขนส่งได้กำไร 1-2 เท่า นี่คือที่มาของนโยบายส่งเสริมให้รถยนต์ขนาดเล็กหันไปใช้เอ็นจีวี
แต่ถ้าไปดูที่ฮ่องกง รัฐบาลที่นั่นส่งเสริมให้รถแท็กซี่ รถเล็กใช้ LPG ล่าสุดรัฐบาลฮ่องกงมีมติให้รถบรรทุกอีก 5,000 คันใช้ LPG ซึ่งราคาก๊าซแอลพีจีที่ฮ่องกงขายลิตรละ 8.10 บาท ส่วนเมืองไทยเมื่อก่อนเคยขายลิตรละ 11.50 บาท ตอนนี้ทยอยปรับขึ้นเดือนละ 75 สตางค์ไปจนถึงสิ้นปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ลิตรละ 23.50 บาท ฮ่องกงเป็นประเทศต้องนำเข้าพลังงาน เพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงขายแอลพีจีได้ในราคา 8.10 บาท
ไทยพับลิก้า : ประเทศไทยส่งเสริมให้ใช้เอ็นจีวี ประเทศอื่นๆ สนับสนุนพลังงานทางเลือกประเภทไหน
รถยนต์โรลส์รอยซ์ของพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่อังกฤษก็เปลี่ยนมาใช้แอลพีจี แต่กระทรวงพลังงานบอกว่า รถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีจะมีอันตรายมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี เพราะก๊าซแอลพีจีเวลารั่วออกมามันจะไหลลงพื้น แต่ถ้าเป็นเอ็นจีวีจะลอยขึ้นบน ซึ่งปลอดภัยกว่า ตนคิดว่าคนที่พูดแบบนี้ ไม่รู้จริง หากถังเอ็นจีวีระเบิดจะมีความรุนแรงมากกว่าถัง LPG หลายเท่า
ไทยพับลิก้า : เอ็นจีวีไม่ได้มีราคาถูกอย่างที่คิด แถมยังแจ้งต้นทุนสูงเกินจริงใช่หรือไม่
ถูกต้อง ราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท เป็นราคาที่บวกกำไรเข้าไปแล้ว ช่วงแรกๆ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้เอ็นจีวีแทนแอลพีจี เคยมีผู้บริหารของ ปตท. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเอ็นจีวีเป็นของเหลือ หากไม่นำไปใช้ในภาคขนส่งต้องเอาไปเผาทิ้ง ตอนนั้นจึงกำหนดเพดานของราคาขายปลีกเอ็นจีวีเอาไว้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท ซึ่งผลของการบังคับใช้เพิ่งมาสิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) แต่นายอภิสิทธิ์ไม่กล้าปรับราคาให้ลอยตัว จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วม ก็ประกาศลอยตัวราคาก๊าซทันที
ไทยพับลิก้า : คุณภาพของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีไทยเป็นอย่างไร
ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานของโลก กล่าวคือ ก่อนหน้านี้กรมธุรกิจพลังงานออกประกาศกำหนดคุณสมบัติก๊าซเอ็นจีวี โดยยอมให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ในเนื้อก๊าซไม่เกิน 18% ของปริมาตร ส่วนมาตรฐานของต่างประเทศกำหนดไว้ไม่เกิน 3% ของปริมาตร ซึ่งสูงกว่าทุกมาตรฐานของโลกเกือบ 6 เท่าตัว นอกจากนี้มาตรฐานโลกยังกำหนดให้ต้องถอดถังออกมาตรวจสภาพการใช้งานอย่าง ละเอียดทุกๆ 5 ปี แต่นี่รัฐบาลปล่อยให้รถยนต์ใช้เอ็นจีวีเกิน 5 ปีแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ตรวจสอบความสมบูรณ์ของถังว่าเหลืออายุการใช้งาน กี่ปี
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของ ปตท. และกระทรวงพลังงานมาชี้แจงต่อคณะกรรมธิการฯ ว่าก๊าซเอ็นจีวีของ ปตท. เป็นก๊าซแห้ง ไม่มีน้ำปน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีทางทราบได้เลยว่าก๊าซเอ็นจีวีของ ปตท. เป็นก๊าซเปียกหรือก๊าซแห้ง เพราะไม่มีหน่วยงานใดมาตรวจสอบ แต่ถ้าเป็นก๊าซเปียก มันจะไปทำปฎิกริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เกิดสนิมที่ผนังด้านในของถังก๊าซ ดังนั้น มาตรฐานของต่างประเทศจึงกำหนดให้ก๊าซเอ็นจีวีมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปะปนได้ ไม่เกิน 3% แต่กรมธุรกิจพลังงานอนุญาตให้มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ในเนื้อก๊าซได้ 18% ซึ่งก็น่าเป็นห่วงไม่ได้ว่าถังจะมีอายุการใช้งานถึง 15 ปีหรือไม่
และกรณีที่กระทรวงพลังงานยอมให้ ปตท. ขายก๊าซเอ็นจีวีที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ถึง 18% ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เติมเข้าไปเป็นก๊าซขยะ ไม่ได้ให้พลังงาน เสมือนกับเอากรวดหรือทรายมาผสมอยู่ในข้าวสารขายประชาชน ในอดีต ปตท. ขายก๊าซเอ็นจีวีที่ราคา 8.50 บาท อนาคตปรับราคาขึ้นเป็น 14.50 บาท แต่ว่ายังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ 18% หมายความว่าประชาชนจ่ายเงิน 14.50 บาท ซื้อเอ็นจีวีได้แค่ 82% อีก 18% เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คุณรับได้หรือไม่
นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ ปตท. เติมเข้าไปในเอ็นจีวี เมื่อถูกปล่อยออกมาจะกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ ปตท. พยายามทำ “ซีเอสอาร์” ส่งเสริมให้ชุมชน 84 แห่ง ปลูกป่าไม้เพื่อลดโลกร้อน แต่กิจกรรมหลักของ ปตท. คือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
จากข้อมูลในปี 2553 มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในปีนี้ 2 ล้านตัน หากมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป 18% หมายความว่ารถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาปีละประมาณ 3.6 แสนตัน ทั้งนี้ยังไม่นับรวมส่วนรถยนต์ที่ใช้แอลพีจีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ประมาณ 40% แต่ถ้าเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่านี้อีก จึงไม่แน่ใจว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดจริงตามที่โฆษณาไว้หรือไม่
ไทยพับลิก้า : ทำไมกลไกของรัฐถึงไม่ทำงาน
คิดว่ากฎหมายหลายๆ ตัวเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างพลังงานเกิดความบิดเบือน อย่างเช่น กฏหมายเปิดโอกาสให้ข้าราชการระดับสูงเข้ามานั่งเป็นกรรมการบอร์ดบริษัท ปตท. ถึงแม้กฏหมายจะระบุว่าให้ข้าราชการนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 3 แห่ง และยังห้ามไม่ให้กรรมการในรัฐวิสาหกิจไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทที่รับ สัมปทานด้วย ยกเว้นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจะมีมติเห็นชอบ ปรากฏว่า ปตท. ส่งผู้บริหารลงไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกเต็มไปหมด
ส่วนข้าราชการระดับสูงที่ลงไปนั่งเป็นบอร์ด ปตท. ได้รับผลตอบแทนเป็นโบนัส ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ปตท. คิดเป็นเงินประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าเบี้ยประชุม แต่ถ้าไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกจะได้รับเงินมากกว่าบริษัทแม่
ยกตัวอย่าง ปลัดกระทรวงพลังงานไปนั่งอยู่ในบอร์ดของ ปตท. เป็นประธานบอร์ด ปตท. เป็นกรรมการบริษัทไออาร์พีซีซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. และยังมีอีกหลายแห่ง เท่าที่ตรวจดูเบื้องต้น ได้รับเงินโบนัสบวกค่าเบี้ยประชุมตกปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลสามารถตรวจดูได้ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ (แบบ 56-1) แต่ถ้าเป็นบริษัทลูกที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบไม่ได้แลย กรณีรัฐวิสาหกิจเชิญข้าราชการเหล่านี้ไปนั่งเป็นกรรมการ เปรียบเสมือนว่าคุณมีดาบอาญาสิทธิ์ เพราะข้าราชการเหล่านี้ทำหน้าที่กำกับดูแล
หากเปรียบเทียบกับเงินเดือนของปลัดกระทรวงพลังงานเดือนละ 1 แสนบาท หรือปีละ 1.2 ล้านบาท ดังนั้นข้าราชการระดับสูงที่มีหน้าที่กำกับดูแล จะให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคมากแค่ไหน เพราะโบนัสที่ได้รับจะแปรผันตามผลประกอบการของ ปตท. หากทำให้ราคาพลังงานมีความเป็นธรรมย่อมมีผลกระทบต่อรายได้ของ ปตท. แน่นอน ในฐานะที่ไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ เป้าหมายต้องทำให้บริษัทมีกำไรสูงสุด แต่อีกบทบาทอีกด้านหนึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ ต้องตูแลผลประโยชน์ผู้บริโภค ตรงนี้ถือเป็นผลประโยชน์ขัดแย้งกันใช่หรือไม่ (conflict of interest)
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานยังเป็นกรรมการกำหนดค่า FT หรือ ค่าไฟฟ้าที่แปรผันตามราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ก็นั่งเป็นกรรมการของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ขายเชื้อเพลิงให้ กฟผ. หาก กฟผ. ต่อรองราคาค่าเชื้อเพลิงกับ ปตท. ไม่ได้ ก็ต้องปรับค่า FT ขึ้น ประชาชนก็ต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ ทำให้บรรดานักวิชาการเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมบริษัทลูกของ ปตท. ถึงซื้อก๊าซเอ็นจีวีจากพูลที่ 1 ขณะที่ กฟผ. ซื้อก๊าซจากพูลที่ 2 ซึ่งมีราคาแพงกว่าพูลที่ 1
ไทยพับลิก้า: การทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีประสิทธิภาพแค่ไหน
กกพ. จัดตั้งขึ้นตรงกับสมัยของรัฐบาลพลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในช่วงที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปร รูป ปตท. นายปิยสวัสดิ์ชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุดว่า หากถอนการแปรรูป ปตท. จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ จึงเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ปรากฏว่ากฏหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กกพ. เข้าไปกำกับดูแลราคาก๊าซต้นทาง ตั้งแต่ราคาก๊าซพูลที่ 1 และพูลที่ 2 แต่ให้กำกับบดูแลเฉพาะเรื่องค่าผ่านท่อก๊าซและค่าไฟฟ้า ดังนั้น กกพ. จึงไม่มีโอกาสได้พิจารณาราคาก๊าซธรรมชาติทั้งห่วงโซ่การผลิต
นอกจากนี้ กกพ. ยังต้องปฏิบัติตามคู่มือราคาก๊าซที่เรียกว่า “gas price manual” ซึ่งออกแบบโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อีกด้วย โดยคู่มือกำหนดว่า หากท่อส่งก๊าซชุดใดหมดอายุให้สามารถเอามา “revalue” ได้ หลังจากคู่มือ gas price manual มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2551 ปตท.จึงเริ่มกระบวนการ revalue ใหม่ ทำให้ทรัพย์สิน ปตท. มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากนั้นในไตรมาสของปี 2552 กกพ. ก็อนุมัติให้ ปตท. ปรับขึ้นราคาค่าผ่านท่อก๊าซ ทำให้ ปตท. มีกำไรเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท ขณะที่ กฟผ. ต้องมาแบกรับต้นทุนค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลไม่กล้าขึ้นค่าไฟฟ้า จึงสั่งให้ กฟผ. แบกค่า FT ไปก่อน
ไทยพับลิก้า : แนวทางแก้ไขการผูกขาดในธุรกิจพลังงานต้องทำอย่างไร
ประการแรกต้องแก้ไขกฎหมายคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐ วิสาหกิจ ไม่ให้ข้าราชการระดับสูงที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจพลังงานไปนั่งเป็นบอร์ด ปตท. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน คำถามคือ คุณยังทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่หรือเปล่า หากไม่ให้ผู้บริหารของกระทรวงพลังงานไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทเหล่านี้ อาจจะไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมในก๊าซเอ็นจีวีสูงถึง 18% ก็เป็นไปได้
ประเด็นถัดมา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฏหมาย แข่งขันทางการค้า แต่เนื่องจาก ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจก็จริง แต่ทำธุรกิจผูกขาดเพียงเจ้าเดียว แทบจะไม่มีการแข่งขันเลย ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้นจึงควรแก้ไขกฏหมาย เพื่อให้ ปตท. ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ส่วนรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังคงได้รับการยกเว้นต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจพลังงานยังต้องดำเนินการต่อไป แต่ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน สรุปคือ 1. กระทรวงพลังงานต้องยกร่างกฏหมายเสนอสภาฯ ไม่ให้ข้าราชการที่กำกับดูแลไปนั่งเป็นกรรมการรับผลประโยชน์จาก ปตท. 2. แยกธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติออกมา เช่น ธุรกิจท่อส่งก๊าซ ธุรกิจน้ำมัน ปิโตรเคมี โดยมีหน่วยงานที่เข้าไปกำกับดูแล และผู้บริหารคนละชุดกัน
สุดท้าย ต้องทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นเขตปลอดการเมือง ปราศจากตัวแทนของนักการเมืองเข้ามานั่งเป็นกรรมการ โดยการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารกิจการของรัฐวิสาหกิจที่เป็นแหล่งรายได้ และมีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ รูปแบบคล้ายกับ “กองทุนเทมาเส็ก”
ไทยพับลิก้า 14/6/55