ส่วนกิโลเมตรที่ 51-150 เพิ่มขึ้นสูงสุด 8% มากกว่า 151 กิโลเมตรเป็นต้นไปอัตราสูงสุด 15% โดยจะยื่นหนังสือถึง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันพรุ่งนี้ ( 27 มีนาคม ) ช่วงบ่าย
การประชุมเพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารดังกล่าวในครั้งนี้ยังมีตัวแทน ของกรมการขนส่งทางบกเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งจะรับเรื่องไปนำเสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาเช่นกัน ส่วนผลสรุปจะเป็นอย่างไรขึ้นกับการพิจารณาของกรมการขนส่งทางบกอีกครั้งใน วันที่ 25 เม.ย.นี้
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับลด จำนวนรถแท็กซี่ในระบบ จากปัจจุบันที่วิ่งบริการอยู่กว่า 75,000 คัน ให้ลดเหลือเพียง 50,000-60,000 คันเท่านั้น
วันเดียวกัน ทางด้านนายฉัตรชัย ภู่อารีย์ ประธานชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหมวด 4 เอกชน กรุงเทพมหานคร หรือรถสองแถว ที่วิ่งอยู่ในพื้นที่ตลิ่งชัน - โรงพยาบาลศิริราช พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการรถร่วม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาจาก 5.50 บาท เป็น 8 บาท เนื่องจากรถสองแถวในกรุงเทพฯ ทั้งหมดใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และขณะนี้ปรับราคาสูงขึ้นมาก จากเดิมจ่ายค่าน้ำมันวันละ 600 บาท แต่ว่าปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องหยุดเดินรถ ขณะที่บางรายถูกยึดรถเนื่องจากไม่มีเงินผ่อนชำระ
ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ยื่นมาในวันนี้ จะนำมาประกอบการพิจารณาอัตราค่าโดยสารอย่างละเอียด โดยต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านที่มีผลต่อการประกอบการรถโดยสาร และจะเชิญผู้ประกอบการรถโดยสารอื่นๆ เข้ามารายงานตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุด ซึ่งการพิจารณาจะให้ความยุติธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้โดยสาร
รมช.คมนาคม กล่าวด้วยว่า กระทรวงคมนาคมจะไม่ยื้อการปรับค่าโดยสาร แต่การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารหรือไม่นั้นจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุม การขนส่งทางบกกลาง ซึ่งจะมีการประชุมชี้ขาดเรื่องค่าโดยสารในวันที่ 25 เมษายนนี้
ด้านนายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน หรือ รถร่วม ขสมก. กล่าวว่า จะรอฟังผลของคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง วันที่ 25 เมษายนนี้ โดยไม่ปรับขึ้นราคาก่อน โดยได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาระยะละ 2 บาท จากต้นทุนของราคาก๊าซที่ปรับสูงขึ้น และค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารนั้นลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากปัญหารถวิ่งทับเส้นทาง และรถเมล์ฟรี ทำให้เก็บค่าโดยสารได้เพียงวันละประมาณ 3,000 บาท แต่ต้นทุนจริงอยู่ที่คันละประมาณ 4,000 บาท จึงแบกรับภาระไม่ไหว
วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม 2012 เวลา 20:54 น.
ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ สุวิภา บุษยบัณฑูร ข่าวรายวัน - ข่าวในประเทศ