ราคาน้ำมันไทยแพงกว่าในสหรัฐฯ!

ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไป กรุณากลับไปดูข้อมูลในแผนภาพข้างบนนี้อีกครั้งครับ ที่เป็นเส้นกราฟขึ้นๆ ลงๆ เป็นราคาน้ำมันหน้าปั๊มและราคาน้ำมันดิบตลอด 7 ปีของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตัวอักษรไทยในแถบสีต่างๆ เป็นการคำนวณของผมเพื่อให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน คือบาทต่อลิตร

เราจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 20 และ 21 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลของสองประเทศเกือบเท่ากัน แต่ราคาน้ำมันเบนซินในบ้านเราสูงกว่าบ้านเขาตั้งแต่ 9 ถึง 12 บาทต่อลิตร!

ถ้าเราไปถามผู้บริหารของบริษัทน้ำมันหรือนักการเมืองที่ดูแลเรื่องนี้ว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” เขาก็คงจะตอบแบบเดียวกับกรณีราคาก๊าซเอ็นจีวีแบบกำปั้นทุบดินว่า “เป็นนโยบายภายในประเทศของเขา” (หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะจำได้นะครับ เหตุเพิ่งเกิดเมื่อต้นปีมานี้เอง)

ไม่เพียงเท่านี้ ขณะที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้ (16 มี.ค.) ราคาน้ำมันทุกชนิดในกรุงเทพฯ ได้ขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยที่แก๊สโซฮอลล์ 95 (หรืออี10) ได้อยู่ที่ 40.23 บาทแล้ว สูงกว่าเมื่อสามสัปดาห์ก่อนเกือบสามบาทราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ทำให้ราคา สินค้าแพงขึ้นเป็นลูกโซ่ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก

ถ้าคิดในด้านของรายจ่าย ในบ้านเราราคาน้ำมันหนึ่งลิตรพอๆ กับราคาข้าวแกงหนึ่งจานหรืออาหารกลางวันหนึ่งมื้อสำหรับคนชั้นกลาง แต่ถ้าคนในสหรัฐอเมริกาซื้อแซนด์วิชเพื่อเป็นอาหารกลางวันจะต้องใช้เงิน 3 ถึง 4 เท่าของบ้านเรา ถ้าคิดในด้านของรายได้ ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยตลอดทั้งวันจะพอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำของคนอเมริกันเพียงไม่ถึงสองชั่วโมงเท่านั้น ถ้าคิดทั้งสองด้านคือรายรับและรายจ่ายพร้อมกัน เราจะพบว่า ราคาน้ำมันในบ้านเราแพงกว่าในสหรัฐฯ หลายเท่าตัว คราวนี้ไม่ต้องไปถามนักการเมืองและพ่อค้าอีกนะครับ เพราะคำตอบที่ได้จะยิ่งทำให้เราเจ็บใจมากขึ้นไปอีก

ทีนี้มาเปรียบเทียบสภาพระหว่างอดีตกับปัจจุบันในภาพรวมของคนไทยดูบ้าง ปัจจุบันโดยเฉลี่ยคนไทยใช้จ่ายเรื่องพลังงานซึ่งรวมถึงค่าน้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าซฯ คิดเป็นร้อยละ 19 ของรายได้ที่คนในประเทศนี้ทั้งหมดหามาได้ นั่นแปลว่าทุกๆ 100 บาท เราจ่ายเป็นค่าพลังงานซึ่งรวมอยู่ในค่าขนส่งสินค้าที่เราบริโภคด้วยแล้วถึง 19 บาท ถ้าย้อนหลังไปเพียง 25 ปีที่แล้ว เราได้จ่ายในหมวดพลังงานไปเพียง 6 บาทเท่านั้น

นั่นหมายความว่า ยิ่งเราเดินตามทิศทางการพัฒนาประเทศที่นักการเมืองกำหนด ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉลี่ยยิ่งอัตคัดขัดสนมากขึ้นทุกวัน เพราะว่าเงินหมวดค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย เงินออม ฯลฯ ของเราต้องลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ไม่ไกลนัก แล้วในอนาคตจะสาหัสกว่านี้ไหม?

ส่วนที่เหลือของบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงความรับผิดชอบในการเปิดเผย และนำเสนอข้อมูลที่โปร่งใสเข้าใจง่ายของสาธารณะ

ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ยั่วอารมณ์” ก็เพราะคาดหวังว่าถ้าคนไทยได้รับทราบความจริงว่าตนเองในฐานะประชาชนได้ถูกคน ของรัฐและนักการเมืองที่สมคบกันเอารัดเอาเปรียบตนแล้ว จะเกิดอารมณ์ไม่พอใจแล้วลุกขึ้นมาค้นหาความจริง เผยแพร่ความจริง (ที่ตนค้นพบแล้ว) รวมถึงการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมเหมือนกับในหลายประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะทนไม่ไหวกับอาหารขาดแคลนและราคาสูงมากรวมถึงการฉ้อฉลในอีกหลายเรื่อง ผมคงไม่ได้หวังมากเกินไปหรอกนะ ไม่ช้าก็เร็ว ธรรมย่อมชนะอธรรมอย่างแน่นอน

ในเรื่องการเปิดเผยและนำเสนอข้อมูล ผมเชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์ตรง คือรู้สึกว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดราคา แต่ราคาน้ำมันในปั๊มของประเทศเรากลับไม่ลดลงตามหรือลดลงในสัดส่วนที่น้อย กว่า แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาในบ้านเรากลับเพิ่มขึ้นในทันที

ราคาน้ำมันดิบที่เขาประกาศก็อยู่ในรูปของดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครเลยที่จะสามารถแปลงกลับมาเป็นบาทต่อลิตรได้ในทันที ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาเขาแปลงมาเป็นต่อ “แกลลอนสหรัฐฯ” ซึ่งไม่เท่ากับแกลลอนที่สากลใช้กัน ทั้งนี้เพื่อให้ต่อความเข้าใจของประชาชน

ถ้าถามว่าการนำเสนอราคาน้ำมันหน้าปั๊มเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบเป็นเส้นกราฟในช่วงเวลานานเป็นปีนั้นดีอย่างไร ตอบว่าจะ ทำให้คนดูสามารถ (1) เข้าใจได้ง่าย เห็นการขึ้นลงตามฤดูกาลของตลาดโลก (2) รู้ค่าการตลาด ค่าการกลั่น และภาษี (นำมาหักลบกัน ในภาพขวามือมีตัวเลขร้อยละเรียบร้อยแล้ว) และ (3) เห็นการขึ้นลงของราคาว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น เมื่อราคาน้ำมันดิบลง แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มกลับขึ้นสวนทาง (โปรดกลับไปดูกราฟอีกครั้ง ที่ผมใส่เครื่องหมาย? ไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 50 เพราะสงสัยว่าทำไมราคาเบนซินจึงเพิ่มขึ้นมากกว่า) ถ้าเราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเราก็สามารถค้นคว้าหาสาเหตุต่อไปได้

การนำเสนอข้อมูลในบ้านเรา รู้สึกได้เลยว่าเหมือนกับ “ตั้งใจไม่ให้ใครรู้เรื่อง” ครั้นจำเป็นต้องค้นคว้าจริงๆ นอกจากจะทำให้เสียเวลานานมากแล้ว ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนอีกด้วย

ผมเคยเขียนถึงหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบ (accountability) ขององค์กรใดๆ ก็ตาม ว่าต้องประกอบด้วย 4 ข้อ โดยที่ 2 ข้อคือ (1) มีความโปร่งใสทุกขั้นตอนในการทำงาน และ (2) มีการตอบสนองต่อคำร้องเรียน เราจะเห็นว่ากิจการพลังงานในบ้านเราที่มีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้นมีปัญหาในสองข้อนี้มาตลอด ไม่เปิดเผยต้นทุนในแต่ละขั้นตอน แต่เปิดเผยผลกำไรมหาศาลเพื่อยั่วนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่เมื่อประชาชนร้องเรียนก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินหรือเลี่ยงไม่ตอบ เช่น กรณีที่ศาลสั่งให้คืนท่อก๊าซที่สร้างก่อนการแปรรูป ปตท. เป็นต้น

นักวิชาการสองท่านที่ได้ติดตามผลงานของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตแบบ “แฟนพันธุ์แท้” ได้เล่าผ่านรายการวิทยุแห่งหนึ่งว่า ในเนื้อร้องของเพลง “คนกับหมา” ที่มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ชีวิตฉันมีแต่หมานำ ฉันเดินก้าวตามตามหมาเดิน” นั้น จริงๆ แล้วน้าหมูต้องการจะให้กระทบซิ่งไปถึงนักการเมืองนั่นเอง เป็นไงครับ! เรื่องราวที่ผมยกมาทั้งหมดกับข้อสรุปในตอนท้ายนี้พอ “เกิดอารมณ์” ไหมครับ?

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน