จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนไทยตื่นตัวซื้อประกันประกันภัยโควิดกันเป็นจำนวนมาก เพราะมีค่าเบี้ยประกันที่ไม่สูงนัก และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมากหากพบว่าตัวเองติดเชื้อ
แต่รู้ไหมว่า ความจริงแล้ว ‘ทุกคนมีสิทธิตรวจและรักษาโควิด-19 ได้โดยไม่เสียเงิน’ เพราะทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสงคม และสิทธิข้าราชการ ครอบคลุมค่าตรวจรวมถึงค่ารักษาพยาบาล COVID-19 ด้วย แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไข และทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ต้องมีอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไอ หายใจไม่สะดวก ปวดเมื่อยเนื้อตัว หรือมีไข้อ่อนๆ เป็นต้น (ถ้าไม่มีอาการป่วย แต่ขอให้แพทย์ตรวจโควิด-19 ผู้เข้ารับบริการจ่าต้องจ่ายเงินเอง ยกเว้นจะตรวจแล้วพบเชื้อ จึงจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้คนที่ไม่มีอาการไปตรวจ เนื่องจากอาจกลายเป็นการไปรับเชื้อมาจากโรงพยาบาลได้)
2. เข้าไปใช้สิทธิรักษา ในโรงพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ โดยแจ้งอาการกับแพทย์อย่างละเอียด และหากเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือเดินทางไปเที่ยวในวัน เวลา และสถานที่ที่มีข่าวว่าพบผู้ติดเชื้อ ก็ให้แจ้งข้อมูลกับแพทย์ด้วย
3. แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้ป่วยจะต้องตรวจเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ถ้าแพทย์ประเมินว่าควรตรวจโควิด-19 ด้วย ผู้เข้ารับบริการจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ ไม่ว่าผลตรวจออกมาจะพบเชื้อโควิดหรือไม่ก็ตาม ส่วนในกรณีที่ถูกประเมินว่าไม่ต้องตรวจโควิด-19 แต่มีการร้องขอให้แพทย์ตรวจ ผู้เข้ารับบริการจะต้องเสียเงินในการตรวจเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล ยกเว้นจะตรวจแล้วพบเชื้อ จึงจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ดังนั้นหลักการสำคัญในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลทั้ง 3 สิทธิก็คือ ‘รักษาตามอาการ และห้ามร้องขอ’
ทีนี้มาดูเรื่องประกันภัยกันบ้าง เมื่อเราทราบแล้วว่ามีสิทธิการรักษาพยาบาลอะไร อย่างไรบ้าง เมื่อเลือกซื้อประกันก็ควรซื้อกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ของเราและมีสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล เช่น บางคนอาจจะต้องการตรวจโควิด-19 ในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือต้องการเงินชดเชยในช่วงระยะเวลากักตัว 14 เป็นต้น โดยในการซื้อประกันภัยแต่ละครั้ง นอกจากผู้บริโภคจะดูสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียด เงื่อนไข และข้อยกเว้นในการทำสัญญาด้วย เพราะประกันแต่ละตัวของแต่ละบริษัท ก็มีเงื่อนไขและข้อยกเว้นการรับประกันที่แตกต่างกันไป อีกทั้งบางบริษัทก็มีเงื่อนไขที่กำกวม หรือไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่จำเป็นบางประการไว้
แล้วก่อนจะซื้อประกัน โควิด-19 ควรดูอะไรบ้าง? ภญ.ชโลม เกตุจินดา อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไว้ว่า จุดที่ควรสังเกตในการซื้อประกันภัยโควิด-19 มีอยู่ 4 เรื่องใหญ่ๆ คือ อายุ ปัญหาสุขภาพ ข้อยกเว้นความรับผิดชอบ และการขายพ่วงประกันอื่นๆ
1. อายุผู้เอาประกัน เพราะประกันแต่ละตัวจะมีช่วงอายุที่แตกต่างกันในการรับประกัน จึงควรศึกษาให้ดีก่อนซื้อประกันให้ตัวเองหรือคนใกล้ตัว
2. ปัญหาสุขภาพ เงื่อนไขของประกันบางตัว ไม่ได้ระบุหรือสอบถาม เกี่ยวกับสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆ ซึ่งผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลส่วนนี้ให้ละเอียด เนื่องจาก บริษัทอาจใช้ข้ออ้างในเรื่องปัญหาสุขภาพ หรือโรคเรื้อรังต่างๆ มาเป็นเหตุผลในการไม่รับประกัน
3. ข้อยกเว้นในการรับผิดชอบ โดยปกติแล้วบริษัทประกันภัยจะคิดเงื่อนไขโดยคำนึงว่าให้บริษัทแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด ดังนั้นจึงอาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เงื่อนไประกันของบางบริษัทมีข้อยกเว้นที่กำหนดเรื่องอาชีพเอาไว้ หากเป็นแพทย์ พยาบาล หรือกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน หรือบางบริษัทกำหนดว่าต้องติดเชื้อก่อนการซื้อประกันภัย โดยใช้เกณฑ์ระยะฟักตัว 14 วัน นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลา 14 วันหลังการซื้อประกัน คุณต้องไม่ป่วยเป็นโควิด ถ้าคุณป่วยประกันจะไม่รับผิดชอบ เป็นต้น
และ 4. การขายพ่วงประกันอื่นๆ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องดีที่ได้ประกันในหลายรูปแบบ แต่นั่นก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีความจำเป็น ดังนั้น หากต้องการซื้อประกันเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ก็ให้ซื้อเฉพาะเรื่องไปเลย ไม่ต้องพ่วงเรื่องประกันอื่นๆ ซึ่งจะหมดไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคอ่านรายละเอียดต่างๆ แล้วไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัย ควรโทรถามบริษัทประกันให้เข้าใจก่อน แล้วจึงตัดสินใจซื้อ