ร้องศาลปกครอง มติครม. ต่อสัญญาทางด่วน BEM ขัดรธน.

news pic 02032020

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครอง กรณีมติครม. ต่อสัญญาทางด่วน BEM 15 ปี 8 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมาย ชี้ เป็นการต่อสัญญาโดยพิจารณาจากมูลหนี้ที่ไม่ถูกต้อง และกังวลว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด

จากกรณีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน,BEM) โดยใช้เหตุผล ว่า แลก 3 แสนล้านเพื่อยุติการฟ้องคดีนั้น

วันนี้ (2 มีนาคม 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ติดตามเรื่องนี้ เห็นว่า เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจน จึงฟ้องคดีต่อศาลขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องที่ให้ความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) รวมทั้งเพิกถอนมติของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขอให้ศาลคุ้มครองการบังคับใช้ตามมติคณะรัฐมนตรีและทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว รวมทั้งขอให้ศาลพิจารณาคำขอคุ้มครองก่อนมีคำพิพากษาโดยเร่งด่วน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มติครม. ที่อนุญาตให้ต่อสัญญาสัมปทานในครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อรัฐและประชาชน รวมทั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน และอาจเป็นมติที่ไม่ชอบธรรม คือ

1. มติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า หากรัฐจะดำเนินการหรืออนุญาตให้ผ้อื่นดำเนินการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน รัฐต้องศึกษาและจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน

2. มติดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฏหมายอีกหลายฉบับ เช่น ขัดต่อ พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และพ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยเป็นที่น่าสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายเดิมหรือไม่

3. ตัวเลขข้อพิพาทไม่มีความชัดเจน เป็นมูลหนี้ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเมื่อตัวเลขข้อพิพาทไม่ชัดเจนเหมือนคุณพิจารณาจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และวิตกกังวลว่าจะแพ้คดีทั้งที่ยังไม่ได้ต่อสู้หรือถูกฟ้องทั้งหมด ส่งผลให้เกิดการต่ออายุสัญญาสัมปทานที่สร้างความเสียหายให้กับรัฐและประชาชน

นางสาวสารีกล่าวอีกว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขหรือขยายระยะเวลาสัมปทานออกไป และมีการเรียกเก็บค่าผ่านทางในอัตราเดิมและสูงขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญานั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และ และได้รับผลกระทบสูงสุด เนื่องจากเมื่อหมดสัญญาสัมปทานแล้ว ผู้บริโภคควรได้ใช้ทางด่วนในราคาที่ถูกลง หากคิดรายได้การทางพิเศษร้อยละ 60 ค่าผ่านทางสามารถลดลงได้มากถึงร้อยละ 40 นั่นหมายความว่าผู้บริโภคจะต้องได้ใช้ทางด่วนในราคา 36 บาท จากเดิม 60 บาท

นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความเพื่อความคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเก็บค่าผ่านทางพิเศษรวมถึงการต่ออายุสัญญานั้น มองว่าการก่อสร้างทางด่วนเมื่อสัมปทานแล้ว การให้บริการทางด่วนในระยะต่อๆ ไปจะไม่มีต้นทุน จึงควรเก็บอัตราค่าผ่านทางในจำนวนที่ลดลง

“เมื่อไม่มีต้นทุนแล้วทำไมจึงคิดราคาเดิม อย่าลืมว่าการบริการสาธารณะจะต้องไม่มุ่งเน้นที่กำไร แต่มุ่งเน้นที่ประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นกับประชาชน สร้างภาระน้อยที่สุด นี่คือหลักการการบริการสาธารณะ นอกจากนี้ เราควรจะหาสาเหตุว่าปัญหาค่าโง่ทางด่วนเกิดขึ้นเพราะใคร เกิดเพราะประชาชนหรือเปล่า ประชาชนไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำไมจึงต้องมาแบกรับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องหาต้นตอของค่าโง่ทางด่วน โดยไม่ผลักภาระให้กับประชาชน” นายจิณณะกล่าว

นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชนในลักษณะดังกล่าว อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ ว่าหากเกิดข้อพิพาทขึ้นก็ต้องยอมต่อสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ทั้งยังเป็นการยอมให้เอกชนมีอำนาจเหนือมหาชน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลต้องใช้อำนาจและกฎหมายที่มีในการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ จึงหวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมการประชาชนในเรื่องนี้ และพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดการถอนฟ้องการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันนี้ ศาลได้มีคำสั่งรับคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นคดีหมายเลขดำที่ 385/2563 แต่ยกคำร้องที่ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน โดยอ้างเหตุว่า กรณีที่ได้ยื่นคำร้องหรือคำขอไม่เข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน ส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ศาลจะนำไปพิจารณาต่อไป

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., ค่าผ่านทาง, ทางด่วน, BEM, การทางพิเศษ, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน