"กรมสรรพากร" เตรียมเสนอเก็บภาษีอีคอมเมิรซ์ให้ครม.พิจารณาในเดือนนี้
12 มิ.ย.60 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะสรุปหลักการร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีการทำธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี คอมเมิร์ซ โดยคณะทำงานร่างกฎหมายของกรมกำลังเร่งสรุปรายละเอียด เพื่อให้ครม.พิจารณาในเดือนมิถุนายนและให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้
นายประสงค์กล่าวว่า สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว ต้องสามารถเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ให้ถือว่า มีสถานประกอบการในประเทศไทย เข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในประเทศไทย
สำหรับวิธีเก็บภาษี จะกำหนดให้สถาบันการเงินเป็นผู้เก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% ส่งให้กรมสรรพากร เมื่อมีการโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการผ่านสถาบันการเงิน คาดว่ามูลค่าการจัดเก็บภาษีได้พอสมควร เพราะมูลค่าการทำธุรกรรมบนธุรกิจออนไลน์สูงหลักล้านล้านบาท ทั้งในส่วนอยู่ในระบบที่เสียภาษีถูกต้องแล้ว เช่น การจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ การชำระเงินของส่วนราชการและเอกชนต่างๆ
นายประสงค์กล่าวว่า ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบภาษี เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรืออูเบอร์ ยกตัวอย่างกรณีอูเบอร์ ปัจจุบันไม่มีการเสียภาษี โดยอูเบอร์มีรายได้จากค่าหัวคิวในการบริหารจัดการระบบ ต้องเสียแวต ยกตัวอย่างค่าบริการแท็กซี่ 100 บาท จะถูกโอนไปยังอูเบอร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากนั้นอูเบอร์จะโอนเงินกลับมาให้คนขับแท็กซี่ 80 บาท ส่วน 20 บาท อูเบอร์จะหักเป็นค่าบริหารจัดการ โดยเงินทั้ง 100 บาท ที่ถูกจ่ายไปจากประเทศไทย ไม่เคยมีการเสียภาษีเลย ประเมินกันว่า เม็ดเงิน 20 บาทที่อูเบอร์หักไว้มีมูลค่าปีละประมาณ 2 พันล้านบาท ควรต้องเสียแวต และภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนเงิน 80 บาทที่คนขับแท็กซี่อูเบอร์ได้รับ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นกัน
นายประสงค์กล่าวว่า ส่วนกรณีการซื้อขายโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือกูเกิล เม็ดเงินเหล่านี้ถูกโอนไปต่างประเทศเหมือนกัน ทั้งที่โฆษณาทำให้คนไทยดู คนซื้อเป็นคนไทย จึงควรนับเป็นการทำธุรกิจในไทยด้วย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ทราบเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ แต่ประเมินจากรายได้ของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโฆษณาที่มายื่นแบบชำระภาษีในปี 2559 ว่า รายได้หายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นั่นอาจจะหมายความว่าเป็นเม็ดเงินที่ผันไปโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ก็ได้
ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ