เมื่อวันที่ 7 เม.ย.60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าบริษัท ทรู สปา จำกัด ซึ่งเปิดให้บริการด้านความงาม ได้ปิดการให้บริการทั้ง 2 สาขา นั่นคือสาขาอโศก ตึก เอ็กเชน ทาวเวอร์และสาขา Zen central world โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ซึ่งจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ทั้ง 2 สาขา พบว่าปิดบริการจริง มีป้ายประกาศติดไว้โดยไม่ได้บอกกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการ พร้อมมีเบอร์โทรศัพท์ให้สมาชิกสอบถาม ซึ่งหลังการโทรติดต่อไปที่เบอร์โทรศัพท์ดังกล่าว พบว่าหมายเลขดังกล่าวยังไม่เปิดใช้บริการ
ล่าสุด Positioning เขียนรายงานว่ากลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนโลกออนไลน์เมื่อมีการตั้งกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปว่า “True fitness แคราย ปิดไม่มีการแจ้งลูกค้าเลยนอกจากป้ายกระดาษโง่ๆ” ภายในมีข้อความระบุว่าที่ทรู ฟิตเนสสาขาเอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย ขอปิดให้บริการเนื่องจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง แต่ให้สมาชิกสามารถไปเล่นฟิตเนสได้ที่สาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศกได้ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านแผนกระดาษที่ติดอยู่หน้าฟิตเนสเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2559 ได้ปิดบริการสาขาเซน แอท เซ็นทรัลเวิล์ดไป
ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พอใจเพราะสาขานี้มีการแจ้งปิดหลายครั้ง อีกทั้งยังไม่มีการแจ้งผ่านช่องทางอื่นอย่าง SMS หรืออีเมลที่เป็นช่องทางส่วนตัวของลูกค้า มีเพียงการติดกระดาษข้างหน้า ทำให้บางคนไม่รู้ และแต่งตัวมาเก้อ ทำให้เกิดการคาดคะเนกันไปต่างๆ นานาว่าที่จริงแล้วทางทรู ฟิตเนสไม่ได้จ่ายค่าไฟ และไม่ได้จ่ายค่าเช่าที่ ทำให้ต้องปิดบริการ
ผ่านมาไม่ทันข้ามวัน ปรากฏว่า สาขาที่เหลือหนึ่งเดียวก็คือสาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก ก็ได้ทำการปิดตัวลงเช่นกัน โดยที่ไม่มีการแจ้งบอกลูกค้าล่วงหน้าแต่อย่างใด และมีการแชร์ภาพด้วยข้อความ True fitness today is the last day
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้พบว่ามีลูกค้าหลายรายได้รับผลกระทบ บางรายได้ทำสัญญาล่วงหน้า 3-5 ปีไปแล้ว ทั้งค่าสมาชิก และค่าเทรนเนอร์ ที่จ่ายล่วงหน้ากันไปแล้ว และยังมีบริษัทบางแห่ง เพิ่งจ่ายค่าสมาชิกให้กับพนักงานแบบเหมารายปี 4-5 แสนไปแล้ว
สมาชิกรายหนึ่งเล่าให้ฟังมา เริ่มมาเอะใจ ตั้งแต่ช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา เมื่อมีการยกเลิกคลาสสอนทั้งหมดลง เช่น โยคะ มวย แต่ยังเปิดให้เล่นอุปกรณ์ออกกำลังกายตามปกติ โดยรู้มาว่าเทรนเนอร์และพนักงานไม่ได้รับเงินเดือนมา 2 เดือนแล้ว เมื่อมีการสอบถามไปทางสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ พอมาเช้าวันจันทร์พนักงานเริ่มไม่มาทำงาน จนมีป้ายปิดเมื่อช่วงเย็นของของวันที่ 8 มิถุนายน 2560
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อช่วงปลายปี 2559 ทรู ฟิตเนส ได้ปิดสาขาเซ็นทรัล เวิลด์แบบกะทันหัน โดยให้ย้ายมาเล่นที่สาขา สาขาเอ็กเชนทาวเวอร์ อโศก พร้อมกับมีข่าวว่า ทรู ฟิตเนส ค้างไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน แต่เรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งมาเกิดอีกครั้งกับสาขาที่เหลือ
คนที่มีประสบการณ์ได้บอกว่าอาจจะต้องทำใจเพราะอาจจะเหมือนกรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว หรือเอ็นโซโกที่อาจจะไม่ได้เงินคืน แต่ก็มีการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม
ทรู ฟิตเนสเป็นธุรกิจฟิตเนส โยคะภายใต้เดอะ ทรู กรุ๊ป สัญชาติสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจด้านฟิตเนสและด้านสุขภาพ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในปี 2549 เปิดสาขาแรกที่สาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก มีพื้นที่ให้บริการ 3 ชั้น รวม 3,700 ตารางเมตร ต่อมาได้ขยายสาขาไปยังเซน แอท เซ็นทรัลเวิล์ด และเอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย ปัจจุบันเดอะ ทรู กรุ๊ปได้ทำตลาดอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ไต้หวัน และจีน
จากงบการเงินที่ได้รับการเปิดเผยพบว่า ทรู ฟิตเนส จดทะเบียนก่อตั้ง ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท โดยมีกรรมการ 2 คน คือ นายภานุวัฒน์ แพรัตนกุล และ นางสาวศศิธร มูลใจทราย และได้แจ้งงบการเงินปี 2558 มีรายได้ 276 ล้านบาท ต้นทุนขาย 245 ล้านบาท กำไรขั้นตอน 0 บาท ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 66 ล้านบาท รวมรายจ่าย 316 ล้านบาท ดอกเบี้ย 9.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 49 ล้านบาท
นับเป็นผู้ประกอบการฟิตเนสอีกราย ที่กำลังซ้ำรอยกับ แคลิฟอร์เนีย ว้าวที่เป็นแบรนด์ฟิตเนสเช่นเดียวกันได้ปิดให้บริการถอยทัพจากประเทศไทย และได้เทลูกค้าโดยไม่บอกกล่าว ทำให้ลูกค้าหลายรายเสียหาย
ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง
มักเป็นคำถามที่พบเสมอๆว่าเมื่อเกิดปัญหาบริการต่างๆไม่ทำตามสัญญานั้นผู้บริโภคอย่างเราๆมีสิทธิ์เรียกร้องอะไรบ้าง นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า การปิดดำเนินการโดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า พร้อมทั้งไม่มีมาตรการเยียวยา เข้าข่ายผิดสัญญา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2521 ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ “ธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจสัญญา โดยมีการเรียกเก็บเงินผู้บริโภคล่วงหน้า การจะปิดปรับปรุงก็ต้องแจ้งให้สมาชิกทราบและมีแผนรองรับสมาชิกว่าจะไปใช้บริการที่ไหน มีกำหนดเปิดหลังการปรับปรุงที่แน่นอน ไม่ใช่ปิดหายเงียบไป ปิดตัวเงียบหายไปนั้นอาจเข้าข่าย ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นั่นคือกระทำด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคควรแจ้งความไว้เป็นหลักฐานก่อนได้
ผู้บริโภคที่มีปัญหาดังกล่าวให้แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน โดยเตรียมเอกสารต่างๆ เช่นสัญญาการเป็นสมาชิก หลักฐานการจ่ายเงิน และเพื่อความรวดเร็วเขียนลำดับสถานการณ์ตั้งแต่วันสมัคร การใช้งานคอร์สต่างๆ จนถึงวันเกิดปัญหา แจ้งความไว้เป็นหลักฐานให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป
ข้อมูลและภาพจาก Positioning