ตามที่สมาพันธ์แพทย์ฯ ที่คัดค้าน(ร่าง)พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้ประกาศเตรียมมาตรการตรวจละเอียดและจำกัดจำนวนคนไข้ที่ตรวจในแต่ละวัน พร้อมไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียง นอนริมทางเดิน หรือแม้แต่จะมีมาตรการการใช้สิทธิของแพทย์ในการนัดหยุดงาน เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาชนที่สนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธรณสุข ใคร่ขอร้องให้แพทย์ที่คัดค้านหยุดนำเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกัน เพราะการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิด แต่เป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐาน พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยความต้องการกฎหมายในแต่มาตราว่าต้องการปรับแก้อย่างไร ไม่ใช้วิธีการจับผู้ป่วย คนตายเป็นตัวประกันเช่นนี้
นอกจากนี้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเตรียมมาตรการรองรับการตรวจละเอียดหากแพทย์ดำเนินการจริง และเรียกร้องแพทยสภาให้สอบสวนจริยธรรมของแพทย์ที่ใช้มาตรการวิชาชีพที่จำเป็นต่อชีวิตข่มขู่ประชาชน
พร้อมยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ โดยจะช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายฉบับนี้ คือ คนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งแพทย์และผู้ป่วยทุกคน
โดยภาคประชาชนที่สนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย ฯ ยืนยันกฎหมายมีหลักการสำคัญ 3 ประการ
1. ชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข เพราะเป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลกว่า ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Error) นั้น สามารถเกิดขึ้นได้
2. มีเป้าหมายลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ที่ครอบคลุมผู้รับบริการในทุกสิทธิการรักษา
3. พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทย
โดยรายละเอียดในกฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้อีกมาก เช่น กองทุนควรที่จะรวมโรงพยาบาลเอกชน ไม่มีใครปฏิเสธที่กองทุนจะต้องบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ โปรงใส และมีกลไกการตรวจสอบการทำงานของกองทุน
ซึ่งแพทย์ที่คัดค้าน ควรเข้ามามีส่วนร่วมเสนอข้อแก้ไขต่อสาระในกฎหมายฉบับนี้ ร่วมออกแบบรายละเอียดในกฎหมาย เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่สามารถหาทางออกเรื่องนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อแพทย์ และคนไข้ที่ต่างมีความทุกข์จากระบบบริการ
บทความที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
|