คณะทำงานกม.คุ้มครองผู้เสียหายฯจี้สภาชะลอพิจารณา กลุ่มแพทย์-บุคลากรสธ.4เหล่าทัพ 10ร.ร.แพทย์ค้าน100%

คณะ ทำงานร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จี้สภาชะลอการพิจารณา เผยประชาพิจารณ์คืบ 30% เตรียมสรุปเบื้องต้นเสนอที่ประชุมกก.สมานฉันท์ฯ 12 ต.ค. กลุ่มแพทย์-บุคลากรสาธารณสุข 4 เหล่าทัพ 10โรงเรียนแพทย์ค้าน 100% "หมอวิชัย"ซัดแพทย์ที่จะตรวจคนไข้ 50 คน/วัน ชี้ไม่เหมาะสมเหมือนจับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน ล่อแหลมต่อจรรยาบรรณ

คณะทำงานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ…จำนวน 9 ชุด ประกอบด้วย 1.โรงเรียนแพทย์/มหาวิทยาลัย 2.กรุงเทพมหานคร 3.กรมแพทย์ 4 เหล่าทัพ 4.ผู้แทนผู้ตรวจราชการ 5.แพทยสมาคม/โรงพยาบาลเอกชน/คลินิก 6.สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) 7.แพยสภา/ภาคีสหวิชาชีพ 8.คณะทำงานปกป้องประชาชนด้านสาธารณสุข (คปส.) และภาคประชาชน และ 9.สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพ ได้ประชุมเมื่อร่วมกันเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม เพื่อรับทราบการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

พล.อ.ต.นพ.การุณ เก่งสกุล โฆษกคณะทำงานพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า หลังจากคณะทำงาน 9 ชุด ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในช่วงเวลา 6 เดือน สามารถดำเนินการได้แล้วประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30 ผลเบื้องต้นพบว่า มีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยทั้ง 100 % คือ แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัด 4 เหล่าทัพ โรงเรียนแพทย์ 10 แห่ง จากที่มีทั้งหมด 18 แห่ง แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขใน รพศ./รพท. และประชาชนใน 25 จังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด ชลบุรี ฯลฯ จากนี้จะมีการดำเนินการต่อไปให้ครบทั้งหมด แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด นอกจากนี้ รัฐบาลควรทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มประชาชนทั่วไป เนื่องจากในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า กฎหมายที่กระทบกับประชาชนต้องทำประชาพิจารณ์

"ผลประชาพิจารณ์เบื้องต้นนี้ น่าจะใช้เป็นข้อมูลในการเสนอต่อ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างสมานฉันท์ในระบบ บริการสาธารณสุข ที่จะประชุมในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ แต่จะไม่สามารถนำไปใช้อ้างว่า เป็นข้อสรุปของกลุ่มแพทย์และบุคลากรได้ หากจะใช้อ้างควรจะรอให้ผลการดำเนินการแล้วเสร็จ 50% เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยส่วนรวม ส่วนในกระบวนการออกกฎหมายคงจะเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากเห็นแก่ประโยชน์ประชาชนจริง ควรจะรับฟังเสียงสะท้อนนี้ และสภาผู้แทนราษฎรควรจะชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อน" พล.อ.ต.นพ.การุณ กล่าว

ด้าน นพ.อุสาห์ พฤฒิจิระวงศ์ รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า ข้อสรุปความคิดเห็นของกลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่คณะกรรมการเสริม สร้างสมานฉันท์ฯ จะนำไปยืนยันว่ากลุ่มแพทย์ได้เสนอความคิดเห็นให้กับคณะกรรมการฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลให้รัฐมนตรี สธ.นำไปประกอบการพิจารณาในสภาฯ จะต้องเป็นในส่วนของความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายรายมาตรา ซึ่งเป็นอีกขึ้นตอนหนึ่ง ขณะนี้ยังอยู่เพียงขั้นตอนประชาพิจารณ์ว่าแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข และประชาชนเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.นี้หรือไม่เท่านั้น

วันเดียวกัน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวในการเสวนาเรื่อง ปฏิรูปสุขภาพ ปฏิรูปประเทศไทย ที่สยามพารากอน ว่ากรณีความขัดแย้งใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่กลุ่มแพทย์จำนวนหนึ่งเห็นว่า เป็นกฎหมายที่คุกคามการปฏิบัติหน้าที่ โดยต่อต้านด้วยการประชดประชัน หาเหตุผลในการจำกัดการรักษาผู้ป่วยนั้น ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และต้องหาจุดร่วมในการพูดคุย รวมทั้งจะต้องดึงประชาชนภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องสุขภาพให้มากขึ้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ต้องวัดใจรัฐบาลว่า จะสามารถผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ให้มีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ เพราะการที่มีกลุ่มแพทย์ออกมาเคลื่อนไหวโดยใช้ข้ออ้างว่า จะตรวจคนไข้วันละ 50 คน เพื่อให้มีการตรวจวินิจฉัยที่นานขึ้นแบบเดียวกันในต่างประเทศนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เหมือนกับเอาคนไข้มาเป็นตัวประกัน ซึ่งล่อแหลมต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ ส่วนที่ นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา นายกแพทยสภา ระบุว่า การกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อจรรยาแพทย์และสามารถทำได้นั้น เชื่อว่าคงเป็นความเห็นส่วนตัวหรือกรรมการแพทยสภาบางคน ไม่น่าจะมาจากมติของแพทยสภา

นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยอย่างละเอียดนั้น ถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากประโยชน์จะได้รับกับผู้ป่วยตรง ไม่ต้องกังวลว่าจะเสี่ยงได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันแพทย์ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความเสียหายขึ้น และนำไปสู่การฟ้องร้อง แต่การจะดำเนินการนี้อาจต้องพิจารณาถึงความพร้อมหลายๆ ด้าน ทั้งบุคลากร ระบบสาธารณสุขไทย การหารือในเรื่องร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

ผศ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชน ที่จะเข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ควรหารือเพื่อหาข้อยุติซึ่งจะก่อประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า ดังนั้น เครือข่ายภาคประชาชนมีมติชัดเจนว่า จะเข้าร่วมประชุมวันที่ 12 ตุลาคมนี้ 2.กรณีที่กลุ่มแพทย์จะตอบโต้ หากมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเน้นการตรวจคนไข้อย่างละเอียดขึ้น ข้อเท็จจริงถือเป็นเรื่องดีในการพัฒนาระบบ คิดว่าผู้ป่วยไม่น่าได้รับผลกระทบ แต่การตรวจโดยละเอียด ในทางกลับก็จะมีคนไข้อีกจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย ตรงนี้เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุข ที่จำเป็นต้องเรียกร้องรัฐบาลในการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยต่างๆ

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ได้คุยกับทั้งฝ่ายแพทย์และภาคประชาชนแล้ว ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างหวังดี และมุ่งดูแลประชาชนผู้รับบริการ แต่ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนต่างกัน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายต้องประนีประนอมกันให้ได้ในหลักการ แล้วค่อยไปว่ากันในสภา

วันที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 21:02:54 น.  มติชนออนไลน์

 

บทความที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
|

พิมพ์ อีเมล