วิพากษ์ระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบไทยๆ อย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ... กฎหมายเราล้าหลังฝรั่ง 20-30 ปี

วิพากษ์ระบบคุ้มครองผู้บริโภคแบบไทยๆ อย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ... กฎหมายเราล้าหลังฝรั่ง 20-30 ปี


6 เดือนที่แล้ว พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ จนถึงวันนี้มีการฟ้องร้องคดีผู้บริโภคกว่า 8 หมื่นคดี ผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิฟ้องผู้บริโภค เรียกชำระหนี้ 96% ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจแค่ 4%
องค์กรผู้บริโภคร้องจ๊าก เหตุใดผู้ประกอบการใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค บี้ผู้บริโภค โดยมีศาลเป็นเครื่องมือ ในต้นทุนที่ถูกและรวดเร็ว

วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 ก.พ.) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้วันแรก

ผู้ ประกอบธุรกิจ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ต่างจับตากฎหมายฉบับนี้อย่างใกล้ชิด เพราะวิตกว่าธุรกิจจะเจ๊ง เพราะผู้บริโภคเช็กบิลสินค้าที่มีปัญหา ?

ความ วิตกกังวล ความไม่รู้ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่คลุมเครืออาจหมดไป ถ้าได้อ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ "จรัญ ภักดีธนากุล" ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างยาวนานนับสิบปี

- หลังจากใช้บังคับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมา 6 เดือน มีการฟ้องร้อง 8 หมื่นคดี โดยผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิฟ้องเรียกชำระหนี้จากผู้บริโภคกว่า 96% ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจแค่ 4% มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ตัวเลขนี้น่าตกใจไหม

ไม่น่าตกใจเท่าไร แม้จะเป็นประเด็นให้ ตั้งข้อสังเกตก่อนหน้าบังคับใช้กฎหมายนี้ บรรดาผู้ประกอบการก็ฟ้องผู้บริโภคหลายหมื่นทั่วประเทศ อยู่แล้ว บริษัทบัตรเครดิตฟ้องผู้บริโภคที่ผิดสัญญา ผิดนัดชำระหนี้ จำนวนมาก กระจายอยู่ศาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ธนาคารฟ้องผู้กู้รายย่อย บริษัทให้เช่าซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่เดิมไม่ได้รวบรวมคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคเป็นหมวดหมู่เดียวกัน แต่กระจายอยู่ในคดีแพ่งทั่วไป เมื่อมีคดีผู้บริโภค ทำให้เห็นสถิติคดีประเภทนี้ในภาพรวมชัดเจนขึ้น ส่วนใหญ่จริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการฟ้องบังคับชำระหนี้จากผู้บริโภคเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ

แต่ ข้อดีมีหลายประเด็น ประเด็นแรก ตัวเลข ที่ ผู้บริโภค ฟ้องผู้ประกอบการ 4% ผมเห็นว่าเป็นตัวเลขที่น่ายินดี ก่อนหน้านี้แทบไม่มีโอกาสที่ ผู้บริโภคจะฟ้องผู้ประกอบการได้เลย เป็นตัวเลขที่อยู่ในเกณฑ์ดี เพราะไม่มากเกินไป แสดงว่าคุณภาพมาตรฐานของการประกอบธุรกิจของบ้านเรายังพอไหว และยังแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคบ้านเราไม่ได้บ้าระห่ำ เที่ยวใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต กลั่นแกล้งผู้ประกอบธุรกิจ และที่สำคัญแสดงให้เห็นว่ากฎหมายไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อผู้ประกอบ ธุรกิจมากนัก

ประเด็นที่สอง ก่อนใช้กฎหมายนี้ คดีเหล่านี้ทั้งหมดมักมากระจุกตัวรวมอยู่ที่ศาลแพ่งในกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ตั้งบริษัทอยู่ในเขตของศาลไหนในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจโทรศัพท์มือถือต่างๆ มีลูกค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่มักจะทำสัญญาให้สัญญามาเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ

เดิมกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งเดิม ให้โจทก์เลือกฟ้องได้ 2 ศาล คือ ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา หรือ ศาลที่มูลคดีเกิด หรือศาลที่เกิดแห่งสัญญา ฉะนั้นผู้ประกอบธุรกิจสามารถฟ้องลูกหนี้ที่มีอยู่ทั่วประเทศได้ในศาลที่ กรุงเทพฯ เพราะเป็นศาลที่เกิดแห่งสัญญา ผลทำให้การบังคับชำระหนี้ในระดับกลางถึงต่ำ กลายเป็นคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ไม่มีปัญญาเข้ามาสู่คดี คดีเสร็จเร็ว สืบฝ่ายเดียว และบังคับชำระหนี้เกินเลยมูลหนี้ที่แท้จริง แต่กฎหมายใหม่กำหนดให้ฟ้องได้ที่ภูมิลำเนาของผู้บริโภคเท่านั้น ทำให้คดีผู้บริโภคกระจายไป ทั่วประเทศ ข้อดีอีกประการ เมื่อคดีไม่มากระจุกตัวรวมในศาลใหญ่ที่กรุงเทพฯ ทำให้ศาลในกรุงเทพฯ ทำคดีได้มีคุณภาพมากขึ้น

ประเด็นที่สาม ก่อนใช้กฎหมายนี้ ตามวิธีพิจารณาคดีแพ่ง ในคดีที่ ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ภาระการพิสูจน์จะตกอยู่กับผู้บริโภค ผู้บริโภคไม่มีความสามารถหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ว่า ผู้ประกอบธุรกิจทำบกพร่อง ตรงไหน กระบวนการผลิตไม่ถูกต้องอย่างไร ฉะนั้นผู้บริโภคก็แพ้คดี แต่กฎหมายใหม่บังคับว่า ถ้าเป็นเรื่องกระบวนการผลิตให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็น ผู้มีหน้าที่นำสืบ ตรงนี้ดีกว่ากฎหมายเดิมนอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังใช้หลักสุจริตตามมาตรฐาน กฎหมายพาณิชย์คือ ต้องอยู่ในความเหมาะความควรที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ดีจะพึงปฏิบัติต่อผู้ บริโภค มาตรฐานเช่นนี้กฎหมายเดิมไม่มี

ด้วยเหตุนี้ แม้คดีจะมากเท่าเดิม แต่จะเกิดเป็นธรรมมากขึ้น และไม่ก่อภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจมากนัก ยิ่งตัวเลขออกมาว่า ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเพียง 4%

ยิ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่าลืมว่า เราต้องคุ้มครองธุรกิจของเราให้อยู่ได้ เข้มแข็ง แข่งขันได้มีมาตรฐาน แต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภคที่เป็นลูกค้า ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้รับการคุ้มครอง ทั้งหมดต้องสมดุลกัน ตัวเลขที่ออกมาผมพอใจ

- 20 ก.พ. พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของระบบคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่

กฎหมาย ฉบับนี้ ในสากลเรียกว่า product liability (PL Law) เป็นที่รู้จักกันทั่วไป ต่างประเทศใช้กันมาแล้ว 20-30 ปี เป็นกฎหมายโบราณของโลก ไม่มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้น ประเทศไทยเราปรับระบบกฎหมายให้ตามโลกช้าไปประมาณ 20-30 ปีเสมอ

กฎหมาย ฉบับนี้ใช้มาตรฐานสหภาพยุโรป directive แบบของเยอรมนี ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ แต่ของเราเป็นแบบ moderate หรือเป็นแบบกลางๆ ไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคแบบสุดโต่งแบบบางประเทศ และของเราค่อนข้างเป็นมาตรฐานที่กลางไปทางอ่อน โดยมุ่งหมายที่ต้องการให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้ทัน จากนั้นค่อยปรับปรุงกฎหมายอีกรอบให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น

ฉะนั้น การที่ภาคธุรกิจบางเซ็กเตอร์ตื่นตกใจว่า กฎหมายนี้จะไปทำลายความสามารถในการแข่งขัน หรือทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม ผมเห็นว่าไม่จริงเลย

ประเด็นแรก กฎหมายไม่ใช้บังคับกับสินค้าบริการ ตัดออกไปหมดเลย กฎหมายนี้ไม่ใช้กับสินค้าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่กระทบต่อผู้บริโภคไทยมาก ในมาตรฐานของสหภาพยุโรป-directive เปิดช่องให้เลือกว่าจะคุ้มครอง สินค้า อสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ก็ได้ บางประเทศก็คุ้มครอง บางประเทศก็ไม่คุ้มครอง แต่ของไทยเราเลือกไม่คุ้มครองบ้านจัดสรร ตึกแถว คอนโดมีเนียม ทาวน์เฮาส์ กลุ่มนี้หลุดจากกฎหมายนี้ไปเลย ทั้งๆ ที่ผมเห็นว่า อสังหาฯควรอยู่ในเฟสแรก แต่เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบธุรกิจ คงเห็นว่าจะกระทบมากในที่สุด ไม่รู้ว่าเหตุผลใด กฎหมายก็ถอดเอาเรื่องนี้ออกไป ต่อไปข้างหน้า เมื่อมั่นใจมากขึ้นค่อยขยับให้สมดุลยิ่งขึ้น

ส่วนที่ยกเอาสินค้า บริการออกไปก่อนก็มาจากเหตุผลที่ว่า ในหลักการสากลไม่ คุ้มครองสินค้าบริการ กฎหมายคุ้มครองสินค้าที่มีรูปร่างเท่านั้น ฉะนั้นที่กลุ่มแพทย์ พยาบาล หวั่นเกรง ก็ขอให้เข้าใจว่า กฎหมายนี้ไม่กระทบวิชาชีพแพทย์ พยาบาลเลย เพราะวิชาชีพนี้คงไม่มาผลิตสินค้าขาย

และความรับผิดตามกฎหมายนี้ คือผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าต้นน้ำ ส่วนผู้ขาย ผู้จำหน่ายนั้น เก็บเอาไว้เบื้องแรก เพื่อให้บอกว่า ที่คุณขายสินค้าอันตราย ใครเป็นคนผลิตให้คุณ ใครเป็นคนนำเข้าเอามาส่งให้คุณขาย เพื่อให้ผู้บริโภคตามไปฟ้อง เล่นงานได้ เป้าหมายของกฎหมายนี้มุ่งไปที่ ผู้ผลิตและผู้นำเข้า แม้ว่าเราจะให้นิยาม ของคำว่าผู้ผลิตไว้กว้างอย่างไรก็ตาม แต่จริงๆ คำว่า ผู้ผลิต ตามกฎหมายนี้ก็คือ ผู้ผลิตสินค้าที่สามารถควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้า เพราะเจตนารมณ์มุ่งไปที่มาตรฐานการผลิต

- ในต่างประเทศ ผู้ผลิต บวกค่า ความเสี่ยงเข้าไปในสินค้า ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

ถูก ต้อง ทุกประเทศก็บอกค่าความเสี่ยงเข้าไปในสินค้า รวมเป็นต้นทุนการผลิต แล้วผลักภาระให้ผู้บริโภค เป็นปกติธรรมดา แต่ว่าต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น มันกระจายออกไปเหมือนระบบประกันภัยที่สุดแล้ว ราคาสินค้าอาจแพงเพิ่มขึ้นอีกครึ่งเปอร์เซ็นต์ หรือแพงขึ้นอีก 5 บาท แต่ผู้บริโภคในประเทศมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ใช่หรือคุ้มไหมครับ แล้วจะทำให้ภาพรวมของประเทศดีขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจก็เหมือนว่าได้ทำบุญไปด้วย

- กฎหมายเปิดช่องให้สมาคมคุ้มครอง ผู้บริโภค ฟ้องร้องแทนผู้เสียหาย จะทำให้เกิดการฟ้องร้องกันมากขึ้นหรือไม่

เป็น ไปไม่ได้ กฎหมายไม่ได้ให้องค์กรอะไรก็ได้ มาฟ้องได้ กฎหมายจำกัดไว้เพียง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาชนเข้าถึงได้ยาก มีระบบกลั่นกรอง และสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองแล้ว เวลานี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีแค่ 4 สมาคมเท่านั้น ที่เพิ่มขึ้นมาคือ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ยังมีไม่มาก สอดคล้องกับใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ผ่านมา 6 เดือนแล้ว ก็มีผู้บริโภค ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจน้อยมาก แค่ 4% ซึ่งก็มีคดีที่ฟ้องผ่านสมาคมหรือ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคน้อยมาก

- ก่อนหน้านี้ มีกรณีนมนำเข้าจากจีนมี สารเมลามีนเกินมาตรฐาน หากในอนาคตเกิดกรณีเช่นนี้อีก กฎหมายฉบับนี้คุ้มครอง ผู้บริโภคได้ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาดร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่

นมที่ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าที่มีสารเมลามีนเป็นส่วนผสม อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายนี้แน่นอน แต่กฎหมายนี้ไม่สามารถขจัดปัญหานี้ได้ทั้งหมด เพราะกฎหมายความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย เป็นกฎหมายปลายเหตุ เป็นกฎหมายเยียวยา มิใช่กฎหมายป้องกัน กฎหมายนี้ไม่มีมาตรการป้องกัน มีแต่ มาตรการเยียวยาแก่ผู้เสียหาย จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ฉะนั้น กฎหมายนี้ไม่ได้ขัดขวางอะไรที่จะผลิตสินค้า หรือนำเข้าสินค้าอันตรายเข้ามาจำหน่ายในตลาด ต้องรอจนกระทั่งมีคนตาย หรือ คนบาดเจ็บเสียหาย เพราะสินค้าอันตรายเหล่านั้น แล้วก็เฉพาะรายนั้นไปฟ้องเรียก ค่าเสียหายได้ตามกฎหมายนี้เท่านั้นเอง

ผม จึงเรียนว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องหวือหวามหาภัยอะไรเลย เป็นกฎหมายโบราณของโลก และของเราเองเพิ่งเริ่มต้น กฎหมายยังมีความ moderate มากๆ ค่อนข้างจะอ่อนไปด้วยซ้ำ

- การที่บอกว่า กฎหมายฉบับนี้ แก้ปัญหาปลายเหตุ แล้วถ้าจะแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์นมที่ต้นเหตุ จะต้องทำอย่างไร เพราะนมเป็นสินค้าที่มีผู้บริโภคมาก ตั้งแต่เด็กจนถึง ผู้สูงอายุ

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในด้านป้องกัน จะต้องอยู่ในรูปของกฎหมายปกครอง เหมือนเช่นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารและยา อย่างสินค้านม ต้องอยู่ ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยอาหาร ต้องสร้างมาตรการป้องกันที่ได้มาตรฐาน เข้มข้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น จะต้องถูกกลั่นกรองอย่างเต็มความสามารถของคนไทยที่จะปกป้องสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ปัญหานี้ในต่างประเทศมีความเข้มงวดมาก

ผมเห็นว่า กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของบ้านเรายังต้องการพัฒนาอีกมาก อีกหลายขั้นตอน สิ่งที่เราทำมาเป็นแค่การวิ่งไล่ตามโลก 20-30 ปี

- ปัญหาเรื่องนมเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายอาหารและ PL Law ตรงนี้เป็นปัญหาหรือไม่

เป็น ธรรมดา เพราะระบบมาตรการทางปกครอง มาตรการทางบริหาร มาตรการทางป้องกัน ต้องเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร แต่กฎหมายพวกนี้ พวกนี้เป็นกฎหมายของศาล ซึ่งจะมีบทลงโทษ เป็น การแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ทั้งหมดจะต้องออกแบบให้ศาลสามารถมีมาตรการอะไรก็ตาม หลังมีคดีมาแล้ว ตัดสิน ชัดเจนแล้ว มีความเดือดร้อนเกิดแก่สังคม จึงจะค่อยให้การเยียวยาขยายมากกว่าเงิน อาจจะต้องไปห้ามกระทำการ ต้องวางเงื่อนไข เก็บสินค้าจากตลาด เพราะฉะนั้นเราต้องไปเติมเต็มใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 41 มาตรา 42 มาตรา 43 ซึ่งที่จริงต้องทำตั้งแต่หน้าด่านของประเทศที่ศุลกากร จุดนี้ จะต้องดูแลมากกว่านี้ ไม่ใช่ดูแลแค่เรื่องภาษี หรือดูแค่ทารีฟเท่านั้น จริงๆ แล้วคุณภาพมาตรฐานของสินค้าที่จะเข้าประเทศเรา ต้องเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องภาษี จริงๆ แล้วเรื่องภาษีต้องเป็นประเด็นรอง จากคุณภาพสินค้า เรื่องนี้ต้องเข้มข้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือโรงงานผลิตต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะ อย. แต่ต้องทั้งระบบ กฎหมายฝ่ายบริหารจะต้องออกแบบทั้งระบบ เพื่อคุ้มครองระบบเศรษฐกิจสังคม

- กรณีนมนำเข้า ที่มีส่วนผสมเมลามีน หากเกิดขึ้นในอนาคต ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ผลิตสินค้า จะต้องรับผิดชอบกันอย่างไร

ภาย ใต้กฎหมายนี้ ข้อที่หนึ่ง ต้องมีคนเดือดร้อน เสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินจากสินค้านมก่อน หากว่ามีผู้เสียหายจริงก็สามารถฟ้องศาลแพ่งตามกฎหมายนี้ได้ ฟ้องผู้ผลิต ถ้าอยู่ในประเทศ ฟ้องผู้นำเข้า ถ้านำเข้ามาจากต่างประเทศ และอาจฟ้องผู้ขาย เพื่อให้ ผู้ขายเข้ามาในคดีก่อน แล้วที่สุดถ้าผู้ขายบ่งชี้ได้ว่าใครเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า จุดนี้ผู้ขายก็จะพ้นความรับผิด เพราะกฎหมายฉบับนี้มุ่งไปที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้เสียหายสามารถ ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ได้รับ ต้องรักษาตัว ต้องขาดรายได้ และยังเรียกค่าเสียหายทางจิตใจได้ ถ้าตายหรือบาดเจ็บ หรือสุขภาพเสียหาย

กรณีนมที่มีส่วนผสมเมลามีน สามารถเรียกค่าเสียหาย เพื่อการลงโทษได้อีกไม่เกิน 2 เท่าของความเสียหายที่แท้จริง นี่รวมยอดความเสียหายที่สามารถเรียกได้มากกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

และยังสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้เก็บสินค้าออกจากตลาดให้หมด เพราะเป็นสินค้าที่อันตรายขายไม่ได้ แต่ต้องพิสูจน์ได้แน่นอนแล้วว่า สินค้าลอตนี้สูตรนี้มีเมลามีนปนในอัตราที่เป็นอันตราย ไม่ปลอดภัยต่อประชาชน ศาลมีอำนาจตามวิธีพิจารณาคดี ผู้บริโภค หรือถ้าไม่ไว้ใจสั่งให้ทำลายเลยก็ได้

ทั้งหมดคือมาตรการปลายเหตุ แต่ก็อยากให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่มีอยู่ในวิธีพิจารณาคดีแพ่ง และประมวลกฎหมายแพ่ง

- กรณีนมเมลามีน กฎหมายนี้เอาผิด กับผู้ผลิตนมที่อยู่ต่างประเทศได้หรือ ไม่ อย่างไร


ใน ต่างประเทศ กฎหมายนี้เน้นไปที่ผู้นำเข้า ผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ มีสินค้าในโลกมากมายที่คุณจะเอาเข้ามาขายให้คนไทยบริโภค คุณต้องเอาของที่ปลอดภัยเข้ามาขาย (สิครับ) ฉะนั้นผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ และจะมีผลในเชิงยับยั้งด้วย เพราะผู้นำเข้าจะไปเที่ยวไปเอาสินค้าอันตรายราคาถูกๆ เข้ามาทำกำไรในบ้านเรา โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน

ส่วน ผู้ผลิตในต่างประเทศนั้น ก็อาจฟ้องเอาผู้ผลิตได้ เพราะมีความรับผิดร่วมกัน แต่ยากนิดหน่อย เพราะแม้ชนะคดีก็จะไปบังคับคดีไม่ได้ เพราะศาลไทยก็มีเขตอำนาจแค่ในประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ ก็ต้องไปฟ้องที่ประเทศของผู้ผลิต ซึ่งประเทศผู้ผลิตถ้าเป็นประเทศที่มีกฎหมาย PL Law ในมาตรฐานที่ดีก็อาจได้ผลไม่น้อยกว่าของประเทศไทย หรืออาจจะดีกว่า เพราะมาตรฐานบ้านเรา เฟสแรกค่อนข้างอ่อนที่สุดแล้ว

- กฎหมาย PL Law ของไทย อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกหลายเฟส

แน่ นอน เพราะว่าผู้บริโภคคือคนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจด้วย สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ภัยอันตรายที่คุกคามเปลี่ยนไป กฎหมายต้องเปลี่ยนให้ทัน

- พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ใช้มากว่า 10 ปี แต่มีคดีไปถึงศาลน้อยมาก ศาลเองก็ไม่หยิบมาใช้ ถึงเวลาแก้ไขปรับปรุงหรือยัง

ผม เห็นด้วย กฎหมายข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ในอังกฤษใช้มา 30 ปีที่แล้ว ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกับเรา คือใช้ให้มีประสิทธิภาพยาก เพราะมันเป็นกฎหมายปลายเหตุ ไม่มีมาตรการป้องกัน เพราะฉะนั้น กฎหมายนี้ไม่ได้ทำให้สัญญาที่ไม่เป็นธรรมในตลาดของเราลดน้อยลงเลย ผู้ประกอบการที่กำลังเหนือกว่า รู้เลยว่า เขียนเข้าไป เอาให้เต็มที่ เอาเปรียบได้เต็มที่ไม่ผิดกฎหมาย เว้นแต่ว่าจะไปเจอคู่สัญญาที่ดื้อด้านจริงๆ นานๆ จะเจอสักคน ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาจนต้องมาฟ้องศาล แล้วผู้บริโภคก็ยกข้อสัญญาไม่เป็นธรรมขึ้นต่อสู้ ซึ่งก็มีน้อยมาก และเมื่อยกขึ้นต่อสู้แล้ว กฎหมายของเราก็มีขอบเขตจำกัด เพราะข้อสัญญา 8 ประเภทเท่านั้นที่อยู่ในนิยามข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่ใช่ว่าทุกสัญญาเข้ากฎหมายนี้หมด แล้วเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่าเป็นสัญญาไม่เป็นธรรม ก็ไม่ใช่ว่าสัญญานี้จะสิ้นผล เพียงแต่ศาลอาจปรับความรุนแรงของสัญญาข้อนั้นให้เบาลง ให้อยู่ในระดับที่เป็นธรรมพอสมควร สมควรแก่กรณีเท่านั้นเอง ฉะนั้นสิบกว่าปีที่ผ่านมา กฎหมายนี้อาจไม่ได้ช่วยให้เกิดผลในด้านความเป็นธรรมทางสัญญามากขึ้น เราอาจต้องปรับปรุงอีกครั้ง จริงมีการวิจัยกฎหมายฉบับนี้ไว้เยอะมาก อาจารย์พินัย ณ นคร ม.ธรรมศาสตร์ ศึกษาจุดอ่อนของกฎหมายไว้ดีมาก ฉะนั้นเรามีช่องทางพัฒนาไปสู่ เฟสที่ 2 ได้แล้ว แต่ว่าหัวใจที่สำคัญ ปัญหาความไม่เป็นธรรม แก้ไม่ได้ด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง ที่ต้องวางมาตรการป้องกัน และแนวทางกำกับดูแล ซึ่งความจริง สคบ. เสนอ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2541 เพิ่มมาตรการคุ้มครองด้านสัญญา แต่ว่า การบริหารจัดการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ยังไม่เต็มกำลัง ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจึงมีค่อนข้างมาก

- ทิศทางการพัฒนาระบบกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยเป็นอย่างไร

ผม ยึดหลักว่า การคุ้มครองผู้บริโภค ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ต้องเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและของพรรคการเมือง และที่สำคัญต้องยึดหลักสมดุล ไม่สุดโต่งในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเดียว จนมองไม่เห็นถึงความอยู่รอดของภาคธุรกิจ เพราะสังคมไทยอยู่ไม่ได้ หากขาดภาคธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจ อย่าได้ปล่อยปละละเลย เอารัดเอาเปรียบ ผู้บริโภค ควรมีการส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม corporate social respon sibility หรือ CSR จะต้องชัดเจนใน ผู้ประกอบธุรกิจไทย นี่คือศักดิ์ศรีของผู้ประกอบธุรกิจ และจะต้องสร้างเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาข้อขัดแย้ง 3 ฝ่ายโดยรัฐบาลจะต้องเป็นโต้โผใหญ่ อย่ามาด้วยอารมณ์ หรือความหวาดผวา มาด้วยท่าทีที่พร้อมจะรับผิดชอบ ผู้บริโภคก็ไม่ใช่มาด้วยความโกรธแค้นอาฆาต

คนทำงานเพื่อผู้บริโภค จะต้องมีวุฒิภาวะ เข้าใจปัญหาของประเทศที่เราจะต้องยืนอยู่ในตลาดโลก จากนั้นสามฝ่ายจะช่วยกันปรับแก้กฎหมาย มาตรฐานต่างๆ ให้เกิดความสมดุลต่อไป


ข้อมูลจาก นสพ. ประชาชาติธุรกิจ
23/ 2/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน