วิทยาเล็งแก้ก.ม.รับผิดสินค้าไม่ปลอดภัย
เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4829
"วิทยา" ขอดูรายละเอียด "พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย" ก่อน หลัง แพทย์ ส.ส. ติงเนื้อหากินความกว้างเกิน กระทบแพทย์ พยาบาล และอาจกระทบระบบสาธารณสุขได้ ด้าน แพทยสภา เผย สคบ.ยันชัด คำว่า "สินค้า ครอบคลุมถึงยาและเวชภัณฑ์" นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แพทยสภาเสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยเสนอให้ยาและเวชภัณฑ์ไม่รวมในคำนิยามคำว่าสินค้า ว่า เริ่มเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ในที่ประชุมสภามีการพูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อระบบแพทย์และพยาบาล
"คนที่เป็นแพทย์ในสภาต่างติงมาว่า อยากให้ผมช่วยดูกฎหมายฉบับนี้หน่อย เพราะเนื้อหาคำว่าสินค้ากินความกว้างเกินไป ดังนั้น ขอเวลาดูรายละเอียดกฎหมายฉบับในก่อน" รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนที่มีความกังวลว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย อาจส่งผลให้มีการฟ้องร้องแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ตนไม่อยากเห็นการเผชิญหน้าระหว่างแพทย์และประชาชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายควรเดินไปด้วยกัน ไม่อยากให้เมื่อเกิดปัญหาอะไรเล็กน้อย แทนที่จะพูดคุยกลับมีความขัดแย้ง ขัดใจ มองเหมือนเป็นศัตรูกัน ซึ่งปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า ประเทศกำลังประสบภาวะขาดแคลนหมอและพยาบาล จึงอยากให้ช่วยกันดูแล
ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 21 ก.พ.นี้แล้ว จะสามารถออกประกาศเพื่อแก้ไขเนื้อหากฎหมายได้ทันหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า คงยังไม่เกิดเหตุเร็วขนาดนั้น คงไม่มีใครที่จะจ้องเล่นงานแพทย์พยาบาลทุกลมหายใจ เชื่อว่ายังมีเวลาอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาดูก่อน
ทางด้านนาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ประเด็นที่น่าต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้ในระบบ โรงพยาบาลรัฐกว่า 1,000 แห่ง และเอกชนกว่า 300 แห่งรวมถึงคลินิกเวชกรรม 8,000 แห่ง จะถูกรวมอยู่ในกฎหมายนี้หรือไม่ เนื่องจากยาทุกตัวหากใช้ไม่ถูกต้องย่อมเกิดการเสียหายได้ ตั้งแต่ แพ้ยา ผลข้างเคียง ซึ่งทางตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า สินค้าตามมาตรา 4 ของกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ด้วย
กรุงเทพธุรกิจ 29-01-52